ต้อหิน….ภัยร้ายใกล้ตัว

12 พฤษภาคม 2563

แพทย์หญิง ปนียา ตปนียางกูร

         

           ขึ้นชื่อว่าหิน นี่มันช่างโหดหินอย่าบอกใคร “โรคต้อหิน” ซึ่งเกิดจากความดันลูกตาสูงไปทำลายเส้นประสาท แต่ก็มีบางกรณีที่เป็นต้อหินโดยที่ไม่มีความดันขึ้นตาได้ เพราะฉะนั้นการจะวินิจฉัยว่าเป็นต้อหินหรือไม่ คุณหมอจะต้องใช้หลัก 3 ข้อประกอบกัน โดยถ้ามีอาการ 2 ใน 3 ข้อนี้ถือว่าเป็นต้อหิน คือ ความดันลูกตาสูง ขั้วประสาทตาผิดปกติ ลานสายตาผิดปกติ ซึ่งการทำลายเส้นประสาทนี้จะค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีอาการ คนที่เป็นต้อหินจึงไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าตัวเองเป็น นอกจากการตรวจของคุณหมอเท่านั้น กว่าจะมารู้ตัวอีกที ตาก็เกือบจะบอดเสียแล้ว

           การจะรักษาให้หายขาดนั้นยิ่งเป็นเรื่องโคตรหินเข้าไปอีก เพราะการรักษาต้อหิน เป็นการรักษาเพื่อชะลอความเสื่อม และควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามไป ทำให้เสื่อมน้อยที่สุดหรือไม่เสื่อมเลย แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หินไหมล่ะคะงานนี้

**ต้อหินพบได้ในทุกอายุ แต่พบมากในอายุ 40 ปีขึ้นไป สามารถติดต่อได้ทางพันธุกรรม รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง ก็พบว่ามีโอกาสเป็นต้อหินได้มากขึ้นเช่นกัน**

ต้อหินในโรคเบาหวาน

           ใครที่เป็นโรคเบาหวาน แล้วไม่รักษาให้ดี จะมีโอกาสเบาหวานขึ้นตา ซึ่งเบาหวานมีอยู่ 2 ชนิด ใครที่เป็นชนิดที่ 1 โอกาสเบาหวานจะขึ้นจอตาจะช้าหน่อย แนะนำให้มาตรวจตาเมื่อเป็นเบาหวานมาได้ 5 ปี แต่ถ้าใครที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ถ้ารู้ตัวหรือตรวจพบว่าเป็นเบาหวานเมื่อไหร่ จะต้องทำการตรวจตาด้วยทันที เพราะการดำเนินของโรคจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว หินอีกแล้วงานนี้ กล่าวคือถ้าเป็นต้อหินธรรมดา เส้นประสาทที่เสื่อมจะเป็นไปอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป
           แต่ถ้าเป็นเบาหวานร่วมด้วย คราวนี้มันจะช่วยกันทำลายให้เร็วขึ้น ซึ่งถ้าปล่อยเอาไว้นานๆ มีโอกาสที่เส้นเลือดจะงอกใหม่ที่บริเวณจอตา ขอบรูม่านตา มุมม่านตา พอเป็นมากๆ จะทำให้ความดันลูกตาสูงนำไปสู่การเป็นต้อหินได้ ซึ่งการผ่าตัดก็ยาก การจะทำให้กลับมามองเห็นก็ยาก เรียกว่า ถ้ามีเบาหวานมาร่วมด้วยเมื่อไหร่จะทำให้เป็นเร็ว แย่เร็ว รักษายาก แต่ความรุนแรงของโรคเบาหวานก็มีหลายระดับ ใครที่เป็นนอกจากการทานยาและตรวจเบาหวานแล้ว ก็จะต้องตรวจตาอยู่เสมอ เพราะถ้ารู้ว่ามีสิ่งผิดปกติเกี่ยวกับตา ก็สามารถรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ช่วยชะลอโรคตาได้
           โรคต้อหินไม่มีทางป้องกัน แต่ต้องดูแลเรื่องของโรคประจำตัวให้ดี หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการ Early Detection ให้กับตัวเอง รวมทั้งใครที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป แนะนำให้ตรวจสุขภาพตาปีละ 1 ครั้ง เพิ่มด้วยก็จะช่วยให้เรารู้ความเป็นไปของโรคได้เร็วยิ่งขึ้น รักษาได้เร็วขึ้น ก็สามารถชะลอความเสื่อมได้มากขึ้นด้วย

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เพิ่มเพื่อน

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พญ. ปนียา ตปนียางกูร
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาจักษุวิทยา