แมมโมแกรมกับอัลตร้าซาวนด์เต้านม

06 มีนาคม 2567

นายแพทย์ ศาสตรา ทัพศาสตร์, แพทย์หญิง พีรดา ภูมิสมบัติ

“รู้อะไรไม่สู้รู้งี้”

การแพทย์ก็เหมือนเรื่องอื่นๆ แหละครับ ก่อนจะตัดสินใจอะไรเราก็อยากเห็นข้อมูลให้มากที่สุดเพื่อจะได้ไม่เสียโอกาส รังสีวินิจฉัยของเต้านมที่นิยมทำมากที่สุดคือแมมโมแกรม (Mammogram) หรือมักเรียกกันว่าเอกซเรย์เต้านม และอีกวิธีคืออัลตร้าวซาวนด์เต้านม (Breast sonography) สองวิธีนี้มีข้อดีและข้อจำกัดที่ต่างกันและแทนกันไม่ได้ครับ ยังไง ไหนเล่า

แมมโมแกรม: ส่วนที่สำคัญของรังสีวินิจฉัยเต้านม

แมมโมแกรมยังคงเป็นมาตรฐานโลกของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมครับ ใช้รังสีเอกซเรย์ขนาดต่ำๆ เพื่อสร้างภาพ (หมายถึงภาพจริงๆ นะครับ) ของเนื้อเยื่อเต้านมที่เห็นรายละเอียดซึ่งสามารถบอกความผิดปกติ เช่น หินปูน ก้อน ความหนาแน่น และความไม่สมมาตรของเต้านมมีประสิทธิภาพมากในการตรวจหาสัญญาณเริ่มต้นของมะเร็งเต้านมก่อนที่จะแสดงอาการ

 

อัลตราซาวนด์เต้านม: เสริมพลังให้การตรวจแมมโมแกรม

อัลตราซาวนด์เต้านมใช้คลื่นเสียงเพื่อสร้างภาพของเนื้อเยื่อเต้านม ใช้เป็นเครื่องมือวินิจฉัยเพื่อประเมินความผิดปกติที่ตรวจพบบนแมมโมแกรมหรือก้อนที่คลำได้ ซึ่งอาจไม่สามารถมองเห็นได้ในแมมโมแกรม อัลตราซาวนด์ช่วยแยกโรคระหว่างก้อนแข็งซึ่งอาจเป็นมะเร็ง กับซีสต์ที่บรรจุด้วยของเหลว ซึ่งโดยทั่วไปไม่เป็นอันตราย

 

ทำไมต้องทั้งคู่

- เนื้อเยื่อเต้านมที่หนาแน่น: ในผู้หญิงอายุน้อยที่มักมีเนื้อเยื่อเต้านมหนาแน่น การตรวจแมมโมแกรมอาจมีประสิทธิภาพน้อยลง เนื่องจากเนื้อเยื่อหนาแน่นจะปรากฏเป็นสีขาวในการเอ็กซ์เรย์ ซึ่งเป็นสีเดียวกับความผิดปกติ จึงถูกบดบังรอยโรคไปได้ อัลตราซาวนด์ช่วยให้ภาพที่ชัดเจนขึ้น ลดข้อจำกัดนี้ไป

- ลักษณะของความผิดปกติ: หากการตรวจแมมโมแกรมตรวจพบความผิดปกติ อัลตราซาวนด์สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะของความผิดปกติได้ ตัวอย่างเช่น อัลตราซาวนด์สามารถช่วยบอกได้ว่าก้อนเนื้อแข็งหรือประกอบด้วยของเหลว ซึ่งเป็นแนวทางวาแผนต่อว่าจะเจาะหรือผ่าตัด

- ระบุตำแหน่ง: การรักษาเฉพาะจุดของเต้านมนั้นต้องระบุตำแหน่งให้ชัดเจน โดยเฉพาะกรณีที่คลำก้อนไม่ได้ อัลตราซาวนด์ช่วยให้ภาพแบบเรียลไทม์ ช่วยให้ระบุจุดที่เป็นเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ

- ทำได้ สบายด้วย: สำหรับผู้ป่วยบางราย เช่น อายุน้อยแล้วมีเนื้อเยื่อเต้านมหนาแน่น อาจเห็นภาพจากอัลตร้าซาวนด์ได้ดีกว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ควรรับรังสีจากการทำแมมโมแกรม และคนที่อาจเจ็บมากจากการทำแมมโมแกรม อาจเหมาะที่จะทำอัลตร้าซาวนด์เต้านมมากกว่า

 

เลือกอย่างเดียวได้มั้ย

สำหรับผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ไม่ควรครับ แม้ว่าแต่ละวิธีจะมีจุดแข็ง แต่การใช้อย่างใดอย่างหนึ่งจะลดความแม่นยำลง ทำให้เลือกแผนการรักษาผิดไปได้ อย่างที่หมอบอกไปครับ ดีที่สุดคือการรู้ข้อมูลมากพอจะให้ตัดสินใจ การเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งควรพิจารณาเป็นกรณีไปครับ

 

แล้วทำไมบางครั้งแพทย์สั่งการตรวจด้วยอัลตราซาวน์เพียงอย่างเดียว

ความผิดปกติของเต้านมที่หมอให้ความสำคัญมากๆ คือหินปูนครับ หินปูนจะมีลักษณะเป็นสีขาวและมีรูปร่างกับขนาดที่ใช้วินิจฉัยโรคได้ หินปูนพวกนี้จะเห็นได้จากการเอกซเรย์เต้านมหรือแมมโมแกรม แต่จะไม่เห็นจากอัลตร้าซาวนด์ครับ อย่างไรก็ตาม ในผู้หญิงอายุน้อยที่มีเนื้อเยื่อของเต้านมหนาแน่นจะบดบังหินปูนในเอกซเรย์เต้านม ทำให้แพทย์จะสั่งการตรวจด้วยอัลตร้าซาวนด์เพียงอย่างเดียว

เช่นเดียวกันครับ ใดๆ ก็ตาม นี่เป็นข้อมูลเบื้องต้นแบบกว้างเพื่อให้คุณผู้อ่านเข้าใจมากขึ้น แต่การตัดสินใจขอให้ปรึกษาคุณหมอที่ดูแลคุณนะครับ

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
นพ. ศาสตรา ทัพศาสตร์
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พญ. พีรดา ภูมิสมบัติ
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยสตร์