โรคในหน้าร้อนไทย ตอนที่ 3: อุจจาระร่วงเฉียบพลัน

05 มีนาคม 2567

นายแพทย์ ศาสตรา ทัพศาสตร์

โรคในหน้าร้อนไทย ตอนที่ 3: อุจจาระร่วงเฉียบพลัน

ต่อเนื่องจากบทความก่อนหน้านี้เกี่ยวกับอาหารเป็นพิษและอหิวาต์ หวังว่าเรื่องที่หมอเล่าไปนั้นจะเป็นประโยชน์แก่คุณผู้อ่านและคนที่คุณรักนะครับ ขอให้ทุกคนปลอดภัยปลอดภัย วันนี้หมอจะไปต่อในเรื่องที่พบบ่อยกว่าในเรื่องของระบบทางเดินอาหารหน้าร้อน อุจจาระร่วงเฉียบพลัน ซึ่งเป็นภาวะที่มีลักษณะอุจจาระเปลี่ยนเป็น ลักษณะเหลวเหมือนน้ำ

อุจจาระร่วงเฉียบพลัน หรือท้องร่วงเฉียบพลัน จะมีอาการถ่ายเป็นลักษณะเหลว ถ่ายบ่อยครั้ง โดยทั่วไปอาการนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และกินระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน โดยปกติจะไม่เกินสองสัปดาห์ อาการมักจะเริ่มขึ้นอย่างกะทันหัน

สาเหตุและผู้ก่อเรื่องมีหลากหลาย โดยมีเชื้อโรคต่างๆ เช่น แบคทีเรีย (E. coli, Salmonella, Shigella) ไวรัส (rotavirus, norovirus) และพยาธิ (Giardia) เชื้อโรคเหล่านี้ มักเข้าสู่ร่างกายผ่านทางอาหาร หรือน้ำที่ปนเปื้อน หรือผ่านการสัมผัสโดยตรงกับผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่การติดเชื้อ เช่น การแพ้อาหาร ยา (เช่น ยาปฏิชีวนะ) และโรคระบบทางเดินอาหารเรื้อรัง ก็สามารถทำให้เกิดท้องร่วงเฉียบพลันได้เช่นกัน

นอกเหนือจากอาการถ่ายเป็น ลักษณะเหลว แล้ว ท้องร่วงเฉียบพลัน อาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ และในบางราย อาจมีไข้ และอาเจียนร่วมด้วย อาการเหล่านี้อาจนำไปสู่อาการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่อย่างรุนแรง ซึ่งภาวะขาดน้ำ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

การดื่มน้ำ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดครับ ในการรักษาอาการท้องร่วงเฉียบพลัน เกลือแร่แบบชง หรือ ORS ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยา มีประสิทธิภาพในการทดแทนน้ำ และเกลือแร่ที่สูญเสียไป แม้ว่ายา เช่น Loperamide สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ หรือให้ใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ครับ เนื่องจากยาเหล่านี้อาจทำให้การติดเชื้อบางชนิดรุนแรงขึ้น การปรับเปลี่ยนอาหาร โดยเน้นอาหารรสจืด และย่อยง่าย เช่น ข้าว กล้วย น้ำแอปเปิ้ล และขนมปังปิ้ง ก็สามารถช่วยให้หายเร็วขึ้นได้

มีบางกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ เช่น ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง (สังเกตได้จากอาการกระหายน้ำมาก ปัสสาวะออกน้อย และรู้สึกหน้ามืด) ถ่ายเป็นมูกเลือด หรือถ่ายเป็นเลือด มีไข้สูง หรือท้องร่วงนานเกินกว่าสองสามวัน อาการเหล่านี้ บ่งบอกว่าจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ และอาจต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุ และวิธีการรักษาที่เหมาะสม

การป้องกันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการลดผลกระทบจากท้องร่วงเฉียบพลัน สุขอนามัยที่หมอเคยเล่าไป อาหาร น้ำ ล้างมือ ล้วนเป็นวิธีง่ายๆ แต่ได้ผลดี ต้นทุนต่ำในการป้องกันโรค นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ให้ร่างกายแข็งแรง และต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ได้ดีขึ้นด้วยครับ

สุขภาพที่ดี ไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม เพียงแค่ใส่ใจ หมั่นดูแลตัวเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ เราทุกคนก็สามารถมีสุขภาพแข็งแรง และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ครับ
 

บทต่อไปหมอจะพูดถึงโรคที่พบน้อยกว่า แต่ยังชุกในหน้าร้อน คุณผู้อ่านบางท่านอาจเคยได้ยิน “โรคบิด” ​(Dysentery) ติดตามตอนต่อไปครับ

 

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
นพ. ศาสตรา ทัพศาสตร์
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป