โรคในหน้าร้อนไทย ตอนที่ 4: โรคบิด

05 มีนาคม 2567

นายแพทย์ ศาสตรา ทัพศาสตร์

โรคในหน้าร้อนไทย ตอนที่ 4: โรคบิด

โรคบิดเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนในประเทศไทย โรคนี้มีลักษณะท้องร่วงรุนแรง มักมีเลือดหรือมูกปนเปื้อน เกิดการติดเชื้อที่ลำไส้ ทำให้เกิดอาการไม่สบายและสูญเสียน้ำ ในปี 2022 ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคบิด 1,572 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต

โรคบิดเกิดจากเชื้อก่อโรค 2 ชนิดหลัก คือ แบคทีเรีย (Shigella) และอะมีบา (Ameba) เชื้อชิเกลลาพบได้บ่อยกว่าและทำให้เกิดโรคบิดชนิดไม่มีตัว ส่วนอะมีบา “เอนตามีบา ฮิสโตไลติกา” (Entamoeba histolytica) ทำให้เกิดโรคบิดชนิดมีตัว เชื้อก่อโรคเหล่านี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และสามารถแพร่กระจายได้ง่ายภายในกลุ่มที่อยู่ใกล้ชิด เช่น ครอบครัว โรงเรียน และสถานรับเลี้ยงเด็ก

โรคนี้ติดต่อได้ง่ายในช่วงที่มีอาการ เนื่องจากเชื้อโรคอยู่ในอุจจาระทุกครั้งที่ผู้ป่วยขับถ่าย ช่วงเวลานี้สามารถยาวนานถึง 2-3 สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการ เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

ระยะฟักตัวของโรคบิดชนิดแบคทีเรียอยู่ระหว่าง 1 ถึง 7 วัน ทำให้มีช่วงเวลาค่อนข้างสั้นระหว่างการสัมผัสเชื้อและการเริ่มมีอาการ ส่วนโรคบิดชนิดอะมีบามีระยะฟักตัวนานกว่า อยู่ที่ 2 ถึง 4 สัปดาห์ ทำให้เป็นภัยที่ซ่อนตัวได้ดีกว่า

 

โรคบิดแสดงอาการได้ดังนี้

- ท้องเดินรุนแรง มักมีเลือดหรือมูกปนเปื้อน

- ปวดท้องและบิด

- ไข้และหนาวสั่น

- อ่อนเพลียและไม่สบายแบบการติดเชื้อทั่วไป
 

อาการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้รู้สึกไม่สบาย แต่ยังเสี่ยงต่อการสูญเสียน้ำ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง

การวินิจฉัยโรคบิดอาศัยการตรวจโดยแพทย์และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตรวจอุจจาระเพื่อหาเชื้อชิเกลลาหรืออะมีบา ช่วยระบุชนิดของโรคบิดได้ชัดเจน นำไปสู่การรักษา

การรักษาโรคบิดขึ้นอยู่กับสาเหตุ โรคบิดชนิดแบคทีเรียอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียชิเกลลา ส่วนโรคบิดชนิดอะมีบา อาจต้องใช้ยารักษาโปรโตซัวเฉพาะเพื่อกำจัดอะมีบา การดื่มน้ำทดแทนน้ำที่สูญเสียเป็นสิ่งสำคัญในทั้งสองกรณี เพื่อบรรเทาอาการขาดน้ำและป้องการภาวะแทรกซ้อน

การป้องกันโรคบิดเกี่ยวข้องกับการรักษาสุขอนามัยเหมือนกับโรคติดเชื้อทางเดินอาหารอื่นๆ ทั้งเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และการล้างมือครับ ที่อยากจะเสริมคือ ล้างมือที่ถูกต้อง มีแค่วิธีเดียวครับ คือล้างให้สะอาด ไม่มี “ล้างนิดหน่อย” “ล้างคร่าวๆ “

การให้ความรู้แก่ชุมชน โดยเฉพาะในโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็ก เกี่ยวกับการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล วิธีการล้างมือที่ถูกวิธี การเลือกบริโภคอาหารและน้ำที่สะอาด รวมถึงการกำจัดอุจจาระอย่างถูกสุขลักษณะ

ปรับปรุงระบบสุขาภิบาล ในชุมชน โดยเฉพาะการจัดการกับระบบบำบัดน้ำเสีย และการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี เพื่อลดแหล่งเพาะกายของเชื้อโรค นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงการปนเปื้อน และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ ทำไมหมอต้องพูดเรื่องชุมชน เพราะเป็นโรคติดต่อในชุมชนน่ะครับ

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
นพ. ศาสตรา ทัพศาสตร์
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป