โรคในหน้าร้อนตอนที่ 2: อหิวาตกโรค

05 มีนาคม 2567

นายแพทย์ ศาสตรา ทัพศาสตร์

โรคในหน้าร้อนไทย ตอนที่ 2: อหิวาตกโรค (Cholera)

บทความนี้อาจเป็นบทความสุขภาพเดียวในไทยที่หมอพิมพ์คำว่าห่าราก คำว่า “ห่า” เป็นภาษาโบราณหมายถึงโรคอหิวาตกโรคที่คุณผู้อ่านเจอในวิชาสุขศึกษาประถม (สมัยนี้มีมั้ยนะ) ส่วนคำว่า “ราก” แปลว่า ไข้ รวมกันเป็น “ห่าราก” เอ่… หมอว่าพอกับเรื่องห่านี่ดีกว่า

ตอนที่แล้วหมอเล่าให้ฟังเรื่องอาหารเป็นพิษ เป็นยังไงกันบ้างครับ หวังว่าคุณผู้อ่านและคนที่รักปลอดภัยดีนะครับ ครั้งนี้มาคุยอีกเรื่องในโรคหน้าร้อน อหิวาต์ หรือ อหิวาตกโรค อีกชื่อคือ Cholera (คนละอย่างกับโคเชลลานะครับ) เป็นโรคที่พบน้อยมาก แต่มีเคสที่เสียชีวิตนะครับ

อหิวาต์เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนาม Vibrio cholerae หลักๆ แล้วเป็น Serogroups O1 และ O139 สิ่งที่ต่างจากโรคอาหารเป็นพิษคือ ถ้าเมื่อไหร่เจอเชื้อนี้ แสดงว่าตรงนั้นสุขอนามัยแย่สุดๆ

เพราะอะไรที่สุขอนามัยแย่สุดๆ หรอครับ เชื้อโรคนี้ติดต่อจากคนสู่คน คือจากอุจจาระคนหนึ่งไปเข้าปากอีกคนหนึ่งผ่านการปนเปื้อน (ขอล่ะ หมอไม่อยากพิมพ์คำนั้นนะ) พาหนะของเชื้อโรคคือน้ำและอาหารที่เราบริโภคเข้าไปครับ

หลังจากเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะฟักตัวโดยที่ไม่ก่อให้เกิดอาการ อาจเป็นหลายชั่วโมงจนถึงห้าวัน ซึ่งการสั่งสมสรรพกำลังนี้เพื่อรอการจู่โจมระเบิดอาการ

อาการจะเริ่มน้ำด้วยถ่ายเหลวและอาเจียนรุนแรง ลักษณะอุจจาระจะเป็นเหมือนน้ำซาวข้าว ทำให้เสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามอาจมีตั้งแต่อาการน้อยๆ คล้ายโรคอุจจาระร่วงอื่นๆ ไปจนรุนแรงจนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตร่วง โพแทสเซียมในเลือดต่ำ เลือดกลายเป็นกรด น้ำตาลในเลือดต่ำ ตายได้นะครับ เมื่อปีก่อนมีรายงาน 5 เคสในประเทสไทย เสียชีวิต 1 รายครับ

อาหารจานอร่อยที่พบเชื้อได้บ่อย ได้แก่ ต้มจืดเต้าหู้หมู ขนมจีนน้ำยา ต้มปลาร้าหน่อไม้ อย่างไรก็ตาม หมอบอกตามตรงว่า อาหารไม่ได้ทำอะไรผิดนะครับ การปนเปื้อนของเชื้อโรคหรือไม่ได้กำจัดเชื้อโรคเป็นสาเหตุสำคัญ ดังนั้น การป้องกันจะไม่ได้แตกต่างจากอาหารเป็นพิษครับ หมอทวนซ้ำนะ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ อาหารอุ่นร้อน สุขอนามัย ห้องครัว โต๊ะกินข้าว จานชามช้อนส้อม การใช้มือกิน การกินร่วมกับผู้อื่น

การรักษากรณีที่ขาดน้ำรุนแรง ต้องเข้าโรงพยายบาล ให้สารน้ำและพิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อด้วยครับ ต้องสังเกตอาการใกล้ชิด หากจำเป็นหมออาจแนะนำให้นอนในห้องไอซียู

โรคนี้มีวัคซีนป้องกันด้วย เป็นชนิดรับประทาน แต่ยังไม่มีการแนะนำให้ใช้กับคนทั่วไปนะครับ จะแนะนำในคนที่เดินทางเข้าไปในบริเวณที่มีโรคชุกชุม และวัคซันไม่ได้มีประสิทธิผล 100% และไม่ได้ป้องกันโรคอุจจาระร่วงอื่นด้วย

#ตอนต่อไปหมอจะคุยถึงโรคที่พบบ่อยที่สุด คือโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ครับ

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
นพ. ศาสตรา ทัพศาสตร์
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป