เรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับเต้านม ที่คุณควรรู้   

05 ตุลาคม 2566

นายแพทย์ ศาสตรา ทัพศาสตร์

เรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับเต้านม ที่คุณควรรู้            


             เรามาถึงช่วงสุดท้ายของเรื่องราวเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมแล้วครับ ครั้งนี้ไปที่ข้อคำถามที่สังคมให้ความสนใจเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม มาดูกันว่าเพื่อนสาวของคุณอยากรู้อะไรกันบ้าง
 

เจ็บเต้านมกับมะเร็งเต้านม

            ถ้าพูดถึงมะเร็งเต้านม เรามักได้ยินเรื่องราวของคนที่คลำได้ก้อนโดยบังเอิญโดยไม่มีอาการเจ็บหรือคัดเต้านม ผู้ที่เจ็บเต้านมนั้นอาจมีเจ็บตั้งแต่น้อย กลาง มาก และก็มากกกกก

            การเจ็บเต้านมโดยไม่มีอาการอื่นนั้นไม่ใช่ตัวบ่งชี้ของมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่การเจ็บเต้านมนั้นจะเป็นไปตามรอบเดือนเนื่องจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปตลอดรอบเดือน อย่างไรก็ตาม อาการเจ็บเต้านมที่เป็นอย่างต่อเนื่องอาจเป็นสัญญาณของอะไรที่ซีเรียสกว่านั้น แม้ว่ามะเร็งเต้านมมักไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด แต่อาการเจ็บเต้านมไม่ใช่การตัดความเป็นไปได้ของมะเร็งทิ้งไป

            ดังนั้น เมื่อคุณผู้อ่านมีอาการเจ็บเต้านม อย่าเพิ่งกังวลใจแต่ต้องไม่ปล่อยปละละเลย หากการเจ็บเต้านมเป็นไปตามรอบเดือนโดยไม่มีอาการอื่น เช่น คลำได้ก้อน สีของผิวหนังบริเวณเต้านมผิดไปจากเดิม มีน้ำไหลออกจากหัวนม อาจเป็นไปตามสรีรวิทยาตามปกติ หากคุณผู้อ่านมีข้อสงสัย ปรึกษาคุณหมอที่ดูแลคุณได้เลยครับ

 

มะเร็งเต้านมไม่ใช่เรื่องของคุณผู้หญิงเท่านั้น

            คุณผู้ชายและคุณผู้หญิงข้ามเพศ ไม่ได้ปลอดภัยจากมะเร็งเต้านม แม้อัตราการเกิดมะเร็งเต้านมจะต่ำกว่า (ประมาณ 1% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมดเป็นผู้ป่วยชาย) แต่พบว่าอุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมในผู้ชายสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานยาคุม อย่างไรก็ตาม ความมีเต้านมขนาดเล็กของคุณผู้ชายทำให้สังเกตได้ง่าย เมื่อพบความผิดปกติที่ผนังทรวงอกของคุณควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยครับ

            ประวัติครอบครัวนั้นสำคัญเช่นกัน จากการศึกษาพบว่า 15-20% ของผู้ป่วยชายที่เป็นมะเร็งเต้านมจะมีญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คนที่เป็นมะเร็งเต้านม

            สำหรับคุณผู้หญิงข้ามเพศ หากมีการรับประทานยาฮอร์โมนเป็นระยะเวลานาน มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมได้สูง การตรวจอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งครับ

            ปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำงานในสถานที่อากาศร้อน การได้รับรังสีสารเคมี หลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านี้ดีต่อทั้งเรื่องมะเร็งเต้านมและสุขภาพของคุณครับ

 

สวยด้วยแพทย์ กับมะเร็งเต้านม

            ยุคสมัยที่ความงามคือทางเลือก การผ่าตัดเสริมเต้านมเติบโตมากขึ้น แล้วการใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไปแถวๆ นั้นส่งผลอะไรกับมะเร็งเต้านมบ้างไหม การผ่าตัดเสริมเต้านมนั้นไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับมะเร็งเต้านมครับ แม้จะพบมะเร็งที่หาได้ยากบ้าง (1:50,000 ของการผ่าตัดเสริมเต้านม) นั่นคือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งรักษาหายได้เมื่อพบแต่เนิ่นๆ มะเร็งประเภทนี้เกิดจากแผลเป็นของการผ่าตัด ไม่ใช่จากเซลล์ของเต้านมโดยตรงครับ

            การผ่าตัดเสริมเต้านมไม่เปลี่ยนความจริงที่ว่าคุณผู้หญิงจะต้องหมั่นตรวจสุขภาพเต้านมอย่างสม่ำเสมอเหมือนคนทั่วไป คุณหมอศัลยกรรมความงามอาจแนะนำให้เอกซเรย์แมมโมแกรมก่อนทำการผ่าตัด และอาจนัดตรวจ MRI หรือ Ultrasound เป็นระยะเพื่อตรวจดูสภาพของวัสดุ แต่การตรวจนี้ไม่อาจแทนการตรวจแมมโมแกรมสม่ำเสมอได้ครับ

            อาการหลังผ่าตัดเสริมเต้านม คุณผู้หญิงควรสังเกตอาการบวม ก้อน การเปลี่ยนแปลงรูปทรงของเต้านม อาการปวด ผื่นหรือสีของผิวหนัง แผลเป็นที่แข็งตัวมากขึ้น หากพบอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์ครับ

            “แล้วเสริมเต้านม ต้องแมมโมแกรมมั้ย แล้วทำได้หรอ?” ถ้าการผ่าตัดเสริมเต้านมของคุณไม่ได้มีการตัดเต้านมออกไปทั้งสองข้างก่อน (ปกติเสริมเต้านมเฉยๆ เราจะไม่ตัดออกนะครับ ^^’) ยังคงต้องคัดกรองมะเร็งเต้านมเหมือนคนทั่วไป เพียงแต่แจ้งทีมรักษาก่อนการตรวจเท่านั้นครับ
 

ยาคุมกำเนิด สมดุล?

            ยาคุมกำเนิดที่ซื้อขายกันตามร้านยาได้อย่างอิสระ เทคโนโลยีที่มนุษย์เพิ่มอิสรภาพด้วยการควบคุมจำนวนประชากรและลดการมีบุตรเมื่อไม่พร้อม มาพร้อมกับความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมด้วยครับ ผู้รับประทานยาคุมระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมได้ 8-24% ยาคุมกลุ่มนี้คือกลุ่มที่เป็นฮอร์โมนอีสโตรเจน ซึ่งแตกต่างกับกลุ่มยาคุมที่มีเพียงเฉพาะโปรเจสติน (Progestin-only) ซึ่งไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม

            ผู้หญิงที่รับประทานยาคุมเพื่อคุมกำเนิดในช่วงอายุยังน้อย โอกาสเกิดมะเร็งเต้านมแม้จะยังไม่สูงนัก การรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงได้ หากต้องการคุมกำเนิดระยะเวลานาน ขอคำแนะนำวิธีคุมกำเนิดจากสูตินรีแพทย์เพื่อหาทางเลือกที่เหมาะกับคุณได้ครับ

 

            และทั้งหมดนี่คือเรื่องราวที่ #เราไม่อยากให้ใครป่วย ต้องการจะบอกครับ ถ้าคุณผู้หญิงอยากจะดูแลตัวเองสักเรื่อง มะเร็งเต้านมซึ่งเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในคุณผู้หญิงคงเป็นอันดับแรกๆ ที่ควรนึกถึง การเอกซเรย์เต้านมปีละครั้งใช้เวลาไม่นานและแทบไม่เจ็บเลยครับ ปรึกษาคุณหมอที่ดูแลคุณ และอย่าลังเลที่จะสอบถามข้อสงสัย เพื่อคุณภาพชีวิตของตัวคุณเอง และเพื่อนๆ ลูกเพจของคุณครับ
 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
 
เพิ่มเพื่อน

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
นพ. ศาสตรา ทัพศาสตร์
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป