มะเร็งร้ายในสตรี

13 พฤษภาคม 2563


มะเร็งบนโลกนี้มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่มะเร็งที่ฆ่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้น ๆ จากข้อมูลล่าสุดของสถาบันมะเร็งและองค์กรระดับนานาชาติพบว่า 

โรคมะเร็งที่ผู้หญิงไทยเป็นและเสียชีวิตจำนวนมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ 
1.มะเร็งเต้านม 
2.มะเร็งปากมดลูก
3.มะเร็งรังไข่ 

ซึ่งมะเร็งแต่ละชนิดก็จะมีอาการและการตรวจรักษาที่แตกต่างกันไป
  
1.มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
มะเร็งเต้านมนั้นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเป็นอันดับ 1 ของหญิงไทย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ ทำให้เซลล์ในอวัยวะนั้น ๆ มีการทำงานที่ผิดปกติจึงทำให้เกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ โดยส่วนมากมะเร็งเต้านมจะสามารถพบได้ในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป  และการลุกลามของโรคมะเร็งเต้านมจะมีทั้งหมด 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 : เป็นอาการมะเร็งเต้านมในระยะก่อนลุกลาม ก้อนมะเร็งจะมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร และยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้
ระยะที่ 2 : ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2-5 เซนติเมตร และมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกัน
ระยะที่ 3  :ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร และมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกันอย่างลุกลาม จนทำให้ก้อนน้ำเหลืองที่ถูกเซลล์มะเร็งกินรวมตัวติดกันเป็นก้อนใหญ่ หรือติดแน่นกับอวัยวะข้างเคียง
ระยะที่ 4 : ก้อนมะเร็งมีขนาดโตเท่าไรก็ได้ แต่จุดสังเกตอยู่ที่การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง  โดยจะลุกลามไปยังอวัยวะส่วน อื่นๆ เช่น กระดูก ปอด ตับ หรือสมอง เป็นต้น

จากสถิติจะพบว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือมีประวัติครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม ผู้หญิงกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมสูงมากกว่าผู้หญิงทั่ว ๆ ไป ดังนั้นจึงควรตรวจเช็คเต้านมด้วยตนเองหรือพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอัลตราซาวด์และดิจิตอลแมมโมแกรม ทั้งนี้เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตเนื่องจากมะเร็งเต้านมลงได้

2.มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)
มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งชนิดเดียวที่ไม่จำกัดเฉพาะสตรีสูงวัย แต่มีโอกาสเกิดขึ้นกับสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้วทุกคน สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี 
อาการที่แสดงคือ มีเลือดออกผิดปกติหลังมีเพศสัมพันธ์ (ที่ไม่ใช่ประจำเดือน) แต่ในระยะแรกนั้นจะไม่แสดงอาการอะไรชัดเจน ทำให้ส่วนใหญ่กว่าจะพบอาการก็อยู่ในระยะ 2-3 แล้วซึ่งยากต่อการรักษาให้หายขาด และส่วนมากมักเสียชีวิตเกือบทุกราย

ดังนั้นการป้องกันมะเร็งปากมดลูกสามารถทำได้โดยการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก พร้อมกับการตรวจภายใน เพื่อหามะเร็งในระยะเริ่มแรกและระยะก่อนเป็นมะเร็ง อย่างน้อยทุกๆ 3 ปี สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกไปรับบริการบ่อยครั้งก็ควรตรวจอย่างน้อยทุก ๆ 5 ปี และหากผลการตรวจเป็นปกติ 2-3 ครั้ง ก็สามารถเว้นระยะห่างออกไปได้

ในปัจจุบันโรคมะเร็งปากมดลูก สามารถป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก จึงเป็นแนวทางการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด 
หลักการที่สำคัญ คือ 
-ควรได้รับการฉีดวัคซีนตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์และร่างกายอยู่ในวัยที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 
-โดยฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบขึ้นไป

นอกจากป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกในเด็กผู้หญิงแล้ว วัคซีนยังป้องกันโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนักในเด็กผู้ชายได้อีกด้วย

สำหรับการรักษา โรคมะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาให้หายได้เพราะวิทยาการทางการแพทย์ในด้านการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกได้พัฒนาไปมาก ทั้งด้านการผ่าตัด, การให้ยาเคมีบำบัด, หรือการใช้รังสีรักษา 
แต่การรักษาโรคนี้จะได้ผลดีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการตรวจพบโรคนี้ได้ในระยะเริ่มแรก หากพบโรคในระยะท้ายของโรคอาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

3.มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)
คือโรคที่เกิดจากการที่มีเซลล์มะเร็งเจริญเติบโตในรังไข่  มักพบมากในผู้หญิงที่มีอายุ 40-60 ปี และอายุที่เพิ่มขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ก็มักเพิ่มขึ้น

มะเร็งรังไข่ในระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดง แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น
-อาการท้องอืด 
-แน่นท้อง 
-ปวดในอุ้งเชิงกราน 
-น้ำหนักตัวลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
-ปวดหลังตอนล่าง 
-เจ็บในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเป็นอย่างต่อเนื่องและค่อย ๆ เป็นมากขึ้นทีละน้อย ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในระยะที่โรคลุกลามแล้ว
การตรวจเพื่อหาเซลล์มะเร็งรังไข่ไม่สามารถตรวจได้จากการตรวจภายในช่องคลอด (Pelvic exam) แต่การตรวจภายในก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องตรวจเป็นประจำซึ่งควรเริ่มตรวจได้ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป นอกจากนี้หากต้องการตรวจเพื่อดูค่าสารมะเร็งที่สร้างจากเซลล์มะเร็งรังไข่โดยตรงนั้นคือการตรวจ (CA 125 assay) และ การตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound exam)  นอกจากนี้การรักษามะเร็งรังไข่ก็มีหลากหลายวิธี  เช่น การผ่าตัด, การใช้เคมีบำบัด,  การใช้รังสีรักษา เป็นต้น


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เพิ่มเพื่อน