ตรวจสุขภาพเพื่อทำงานบนเรือสำราญ ควรเตรียมตัวอย่างไร ?

13 พฤษภาคม 2563

แพทย์หญิง ศยามล ศุภโอภาสพันธุ์, นายแพทย์ วินัย พอล

 

การทำงานบนเรือสำราญแม้จะมีรายได้สูงมาก แต่ก็ต้องแลกมากับการต้องทำงานหนักในแต่ละวันประมาณ 10-12 ชั่วโมง ย่อมนำมาซึ่งสภาวะความเครียดทางจิตใจ การเจ็บไข้ได้ป่วยทางกาย อุบัติเหตุระหว่างทำงาน  ดังนั้นบริษัทเรือต่าง ๆ จึงมีการกำหนดเกณฑ์เพื่อคัดกรองความเสี่ยงโรคต่าง ๆ เช่น ตรวจการได้ยิน ตรวจเอ็กซ์เรย์ปอด ตรวจฟัน  ทั้งนี้เพื่อคัดกรองผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง และเพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น  นอกจากการการตรวจสุขภาพแล้วความแข็งแรงที่ว่านั้นยังรวมถึงการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคต่างๆ อีกด้วย

ปัญหาที่พบบ่อยสำหรับการตรวจสุขภาพ
ปัญหาที่พบได้บ่อยในการตรวจสุขภาพ ได้แก่  ความดัน  เบาหวาน ไขมันเกาะตับ ปัญหาฟัน การได้ยิน และการมองเห็นผิดปกติ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการที่ผลออกมาผิดปกติ “อาจเป็นเพราะการเตรียมตัว การไม่ดูแลตัวเอง ทำให้ผลการตรวจไม่ผ่าน ต้องมาตรวจซ้ำหรือตรวจเพิ่มเติมหรือต้องทำการรักษาเพิ่มเติม  ทำให้ผลสรุปการตรวจทั้งหมดล่าช้าและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น”  ทั้งนี้ก็เพราะว่า การตรวจเพาะเชื้ออุจจาระบางชนิด อาจจะต้องใช้เวลาในการรอผลนานกว่าปกติ โดยเฉลี่ย 7 วัน ถ้าลูกเรือไม่ติดผลการตรวจอย่างอื่นนั้นเอง

แล้วควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนไปตรวจสุขภาพ ?
อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า บริษัทต้องคัดกรองผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงเพื่อไปทำงานบนเรือ ดังนั้นการออกกำลังกายสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3-5 ครั้งๆ ละครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อยจึงเป็นสิ่งสำคัญ  นอกจากนั้นการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หรือวันละ 6-8 ชั่วโมง และการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่  แต่ควรหนักไปทางผักผลไม้ ส่วนเนื้อสัตว์ก็ควรหนักไปทางเนื้อปลา ส่วนอาหารจำพวกแป้ง เช่น ขนมปัง พิซซ่า ข้าว ถ้าทานมากก็จะทำให้น้ำหนักเกิน น้ำตาลขึ้นสูง เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และความดันโลหิตได้  ดังนั้นจึงควรทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น whole wheat bread ข้าวกล้อง (ถ้ามี) ธัญพืช ลูกเดือย ถั่ว งา วอลนัต อัลมอน ส่วนน้ำให้ดื่มน้ำเปล่าวันละ 8-10 แก้ว เป็นต้น

คำถามที่พบบ่อย สำหรับการเตรียมตัวก่อนมาตรวจสุขภาพ
การเตรียมตัวเจาะเลือดจำเป็นต้องงดน้ำงดอาหารหรือไม่ ?

  • การตรวจน้ำตาลในเลือด (ตรวจเบาหวาน) ต้องงดน้ำ และอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนตรวจ

  • การตรวจไขมันในเลือด (คลอเลสเตอรอล หรือ ไตรกลีเซอร์ไรด์)  ต้องงดอาหาร อย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนการตรวจ และควรงดอาหารที่มีไขมันสูงอย่างน้อย 3 วัน ก่อนตรวจการตรวจเลือดอื่นๆ

  • การตรวจเลือดอื่นๆ เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การทำงานของตับ หรือไต ไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร


การเตรียมตัวก่อนตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) ควรทำอย่างไร ?

  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลมในปริมาณมาก หรือการทานขนมหวานจัด เพราะจะทำให้มีน้ำตาลปนในปัสสาวะ

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในคืนก่อนตรวจ หากมีประจำเดือนให้งดตรวจปัสสาวะ เพราะจะมีเลือดปนเปื้อน

และวิธีการเก็บปัสสาวะที่ถูกต้อง คือ ต้องทำความสะอาดส่วนปลายของทางเดินปัสสาวะด้วยน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้งก่อน จากนั้นปัสสาวะทิ้งไปเล็กน้อย แล้วเก็บปัสสาวะตรงช่วงกลางของการถ่ายปัสสาวะให้ได้ปริมาณที่กำหนด

การตรวจสายตา และสมรรถภาพการมองเห็น

  • ไม่ควรมีภาวะเจ็บป่วยของดวงตาขณะตรวจ เช่น ตาแดง ตาอักเสบ มีบาดแผลรอบดวงตา ตาบวม เป็นต้น

  • หากสวมแว่นสายตาควรนำแว่นที่ใช้อยู่มาตรวจเช็ค  ไม่ควรตรวจสายตาหลังจากใช้สายตา จนรู้สึกล้าหรือตาพร่ามัวแล้ว


การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน
ช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดในการตรวจสมรรถภาพการได้ยิน คือ ตรวจหลังจากที่หลีกเลี่ยงเสียงดังมาแล้วอย่างน้อย 16 ชั่วโมง นั่นก็คือควรตรวจก่อนเวลาเข้าทำงาน หากตรวจในขณะทำงานหรือหลังจากออกกะมาแล้ว ผู้รับการตรวจต้องไม่เป็นหวัดคัดจมูกเพราะอาจมีภาวะหูอื้อได้  อุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจคือหูฟังครอบหู  ดังนั้นการสวมต่างหูใหญ่ แว่นตา  ที่คาดผม หมวก อาจเป็นอุปสรรคต่อการตรวจได้

การตรวจสมรรถภาพปอด

  • ควรตรวจสมรรถภาพปอดหลังจากรับประทานอาหารนานเกิน 1 ชั่วโมง เพราะจะไม่ทำให้อาเจียน

  • หากสูบบุหรี่ ให้งดสูบบุหรี่มาก่อนการตรวจสมรรถภาพปอดอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

  • ควรสวมชุดที่ไม่รัดทรวงอกและท้อง ควรเป็นชุดที่ค่อนข้างหลวมสบายๆ

  • ไม่อยู่ในภาวะหลังผ่าตัด โดยเฉพาะผ่าตัดช่องท้อง ทรวงอก หรือสมอง

  • หากเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ควรรักษาหายก่อน

  • ควรพักให้หายเหนื่อยก่อนตรวจ ไม่ควรตรวจหลังออกกำลังกาย

  • หากมีฟันปลอมต้องถอดฟันปลอมออกก่อนตรวจสมรรถภาพปอด

  • ห้ามเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมขณะตรวจสมรรถภาพปอด

  • หากเป็นโรคที่ต้องใช้ยาขยายหลอดลมชนิดพ่น ต้องงดใช้ยาขยายหลอดลมก่อนตรวจอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

      

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เพิ่มเพื่อน

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พญ. ศยามล ศุภโอภาสพันธุ์
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชปฏิบัติทั่วไป
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
นพ. วินัย พอล
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุศาสตร์มะเร็งวิทยา