คุณภาพการนอนหลับเป็นเรื่องสำคัญ

12 มีนาคม 2567

นายแพทย์ ศาสตรา ทัพศาสตร์

        ในสังคมยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ กระฉับกระเฉง และเต็มไปด้วยอะไรก็ไม่รู้ที่ต้องทำหรืออยากทำเต็มไปหมด การนอนหลับกลายเป็นเรื่องที่ถูกมองข้าม น่าสนใจที่มนุษย์ทุกคนพยายามอดหลับอดนอนเปิดตาทำงานอย่างหนักเพื่อหาเงินเพื่อไว้ใช้รักษาโรคของตัวเองในอนาคต แทนที่จะดูแลสุขภาพให้ดีในวันที่เหมาะสมที่สุดในการทำ ความสำคัญของการนอนหลับนั้นไม่ได้หยุดอยู่แค่การพักผ่อน แต่เป็นพื้นฐานสำคัญของทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต วันนอนหลับโลกจึงเปรียบเหมือนวันที่ช่วยให้คุณผู้อ่านได้ทบทวนและตระหนักรู้เพื่อเน้นถึงบทบาทสำคัญของการนอนหลับที่มีต่อชีวิตเรา

        วันนอนหลับโลก (World Sleep Day) ตรงกับวันศุกร์สัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคมทุกปี สถาปนาตั้งแต่ปี 2008 โดย World Association of Sleep Medicine (WASM) ได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญและนักสนับสนุนด้านสุขภาพการนอนทั่วโลก ถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่มุ่งเน้นความสำคัญของสุขภาพการนอนหลับของผู้คนในสังคม มันเรื่องใหญ่ขนาดนั้นเลยหรอ งานวิจัยจาก RAND Europe ชี้ว่าการอดนอนทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา 411 พันล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น 138 พันล้านเหรียญสหรัฐ เยอรมนีและสหราชอาณาจักรพอๆ กันที่ 50-60 พันล้าน และแคนาดาน้อยลงมาที่ 22 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญไม่เพียงแค่ต้องการยกระดับการพูดคุยเกี่ยวกับความสำคัญของการนอนหลับในการรักษาสุขภาพโดยรวมเท่านั้น แต่ยังเพื่อกระตุ้นให้เราทำอะไรสักอย่าง เพราะการนอน ไม่ได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน

       วันนอนหลับโลกปี 2024 ธีมคือ "ความเท่าเทียมด้านการนอนหลับเพื่อสุขภาพโลก (Sleep Equity for Global Health)" ซึ่งน่าสนใจว่า ถ้าทุกคนอยากทำให้ผลลัพธ์คุณภาพชีวิตเท่าเทียมกัน ทำไมคนเราถึงได้สิทธิ์นอนพักผ่อนไม่เท่ากัน? ความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างภาระเพิ่มเติมให้กับตัวบุคคลและชุมชนเท่านั้น แต่ยังซ้ำเติมความไม่เท่าเทียมด้านสุขภาพที่มีอยู่เดิมเลวร้ายลงไปอีก คุณผู้อ่านคงรู้จักหลายๆ อาชีพหรือวิชาชีพที่ทำงานหนักเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตที่ตัวเองต้องการไว้ ลองนึกภาพ ไรเดอร์ พนักงานทำความสะอาดถนน พนักงานเก็บขยะ พนักงานขับรถบรรทุก พนักงานรักษาความปลอดภัย รวมไปถึง แพทย์และพยาบาลภาครัฐ ทำไมเขาไม่ได้นอนให้พอ? ก็เพราะมีเรื่องที่ต้องทำสำคัญมากกว่าการไปนอนไงครับ

 

ยังไม่เข้าเรื่องอีกหรอหมอ

แต่เดิมมนุษย์ยังไม่เข้าใจเรื่องการนอนเท่าไหร่ ในขณะที่ตอนนี้งานวิจัยเรื่องการนอนใหม่ๆ ออกมาเยอะมาก วิทยาศาสตร์ของการนอนหลับนั้นทั้งน่าสนใจและซับซ้อน การอยู่เฉยๆ ของการนอนหลับนี้กลับส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างมาก การนอนหลับเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของสมอง อารมณ์ และสุขภาพทุกระบบ ภาวะการอดนอนเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในสังคมปัจจุบัน พาไปพบกับปัญหาสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน และโรคทางจิตเวช ผลกระทบของการละเลยการนอนหลับนั้น ไม่เพียงแค่ความเหนื่อยล้า แต่ยังส่งผลต่อความสามารถทางปัญญา ความสมดุลทางอารมณ์ และแม้กระทั่งอายุยืนของเราด้วย แล้วทำไมคนถึงยังไม่สนใจ? ฮ่าๆ ก็เหตุร้ายมันไม่ได้เกิดกับเราวันนี้หรือพรุ่งนี้ไงครับ

 

ความสัมพันธ์ระหว่างการนอนหลับกับความสำเร็จในหน้าที่การงานนั้นน่าทึ่ง ตรงกันข้ามกับความเชื่อที่ว่าคนที่ประสบความสำเร็จมักนอนน้อย หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า การพักผ่อนไม่เพียงพอ สามารถส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประสิทธิภาพการทำงาน ผลผลิต และการเติบโตในสายงาน ข้อมูลจาก "How Much Is Bad Sleep Hurting Your Career?" เผยให้เห็นความจริงที่โหดร้ายว่า ภาวะการอดนอนเรื้อรังไม่เพียงแต่เป็นปัญหาสุขภาพส่วนบุคคล แต่ยังเป็นอันตรายต่อ “อาชีพ” อีกด้วย มันส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ขัดขวางการตัดสินใจ และลดทอนความคิดสร้างสรรค์ ชี้ให้เห็นภาพชัดเจนถึงความจำเป็นอย่างยิ่งของการนอนหลับ เพื่อให้บรรลุและรักษาความสำเร็จในหน้าที่การงาน หมอลองยกตัวอย่างง่ายๆ นะ แทนที่คุณจะนอนให้พอแล้วไปทำงานอย่างนึงให้เสร็จ คุณเลือกที่จะอดนอนแล้วสับงานให้เสร็จ สิ่งที่ได้คือคุณจะใช้เวลาทำงานมากขึ้น กับผลงานที่แย่ลง เอากะเขาสิ

 

คุณภาพการนอนหลับกับภาวะผู้นำมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งอย่าง "Sleep Better, Lead Better" ชี้ให้เห็นว่า การอดนอนของผู้นำส่งผลกระทบต่อองค์กรในหลายด้าน ผู้นำที่อดนอนมักจะมีปัญหาในการตัดสินใจ ขาดการควบคุมตนเอง และความคิดสร้างสรรค์ลดลง ซึ่งส่งผลเสียต่อขวัญกำลังใจ การมีส่วนร่วม และประสิทธิภาพโดยรวมของทีม ผลกระทบนี้ส่งต่อเป็นลูกคลื่นตั้งแต่ผู้นำไปยังสมาชิกในทีม สะท้อนให้เห็นว่าผู้นำควรให้ความสำคัญกับการพักผ่อน ไม่เพียงเพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่เพื่อสุขภาพที่ดีของทีมด้วย

 

การแก้ไขปัญหาด้านการนอนหลับนั้น ต้องอาศัยมากกว่าแค่การตระหนักรู้ ปัจจัยสำคัญคือการนำแนวทางปฏิบัติไปใช้จริง คนและองค์กรสามารถส่งเสริมการนอนหลับที่ดีขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น การสร้างกิจวัตรการนอนที่สม่ำเสมอ ปรับแต่งสภาพแวดล้อมการนอนให้เหมาะสม และเข้าใจประโยชน์ของการงีบหลับ เอกสารวิจัยยังชี้ให้เห็นถึงบทบาทของการบำบัดทางพฤติกรรม (cognitive-behavioral therapy) ในการรักษาโรคนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นวิธีที่มีแนวโน้มดีในการปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ ส่งผลต่อผลงานและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในองค์กร อย่างไรก็ตาม หมอเข้าใจคุณผู้อ่านนะครับ ทุกคนมีภาระและความฝัน เราต้องรักษาสมดุล แต่อย่างที่หมอเคยบอก สมดุลเป็นสิ่งเปราะบาง มันมักอยู่ไม่นาน

 

องค์กรมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพการนอนหลับของบุคลากร การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมการนอนหลับที่ดี จะช่วยยกระดับสุขภาพ ความพึงพอใจ และผลผลิตของพนักงาน ผู้นำโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเป็นผู้นำโดยตัวอย่าง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการนอนหลับผ่านการกระทำและนโยบายต่างๆ การส่งเสริมให้พนักงานทำงานและพักผ่อนอย่างสมดุล จัดหาแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพการนอนหลับ และการสังเกตสัญญาณของการอดนอนในพนักงาน ล้วนเป็นขั้นตอนสำคัญที่องค์กรสามารถดำเนินการเพื่อให้ความสำคัญกับการนอนหลับ คุณผู้อ่านลองนึกภาพเจ้านายหรือฝ่ายทรัพย์ฯ พยายามหาทางทำให้คุณผู้อ่านนอนพอ น่ารักเนอะ

 

ในยุคสมาร์ทโฟนและการเชื่อมต่อตลอดเวลา ชีวิตคนเราคือการละสายตาจากหน้าจอนึงไปอีกหน้าจอนึงทั้งวัน ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อการนอนหลับไม่อาจมองข้ามไป แสงสีฟ้าที่เปล่งออกมาจากหน้าจอสามารถรบกวนวงจรการนอนหลับตามธรรมชาติของเราโดยตรงที่สมอง (ซึ่งเราควบคุมไม่ได้) ทำให้การนอนหลับและการนอนหลับสนิทยากขึ้น การใช้ฟิลเตอร์แสงสีฟ้าและการกำหนดเวลาปิดใช้งานเทคโนโลยี เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรักษาสุขภาพการนอนหลับของเราในยุคดิจิทัล อย่างไรก็ตาม หมอให้เป็นข้อมูลไว้เฉยๆ นะครับ การเสียเงินซื้อฟิลเตอร์หรือแว่น Blue-cut (พอเห็นราคาแล้วแบบ...) เหมาะสมในการใช้แก้ปัญหาพวกนี้หรือไม่ ยังต้องการงานวิจัยเพิ่มเติมอยู่ แต่ปิดหน้าจอก่อนนอนสัก 1-2 ชั่วโมงน่ะ ทำเถอะครับ

 

วันนอนหลับโลก หมออยากให้คุณผู้อ่านใช้วันนี้เป็นโอกาสทบทวนพฤติกรรมการนอนหลับของของตัวเอง ถามตัวเองดูครับว่าที่ทำอยู่ “มันใช่มั้ย” การนอนหลับเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต ส่งผลกระทบอันลึกซึ้งของการนอนหลับต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ และความสำเร็จด้านต่างๆ การลงทุนในเรื่องการนอนหลับ ก็คือการลงทุนในตัวเราเอง อาชีพการงาน และอนาคตของเรา หมอขอให้วันนอนหลับโลกนี้เป็นจุดเปลี่ยน เป็นช่วงเวลาที่คุณผู้อ่านตื่นขึ้นมาหลังจากนอนหลับอย่าง “เท่าเทียม”

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
นพ. ศาสตรา ทัพศาสตร์
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป