โรคในหน้าร้อนไทย ตอนที่ 5: Heat stroke

05 มีนาคม 2567

นายแพทย์ ศาสตรา ทัพศาสตร์

โรคในหน้าร้อนไทย ตอนที่ 5: Heat stroke

ปีก่อนหมอเขียนบทความเรื่อง Heat stroke ไปแล้ว ครั้งนี้ หน้าร้อนเข้ามาแล้ว ต่อไปก็คือร้อนเรือหาย อยากจะชวนคุณผู้อ่านมาทบทวนกันเพื่อป้องกันให้คุณและคุณที่คุณรักปลอดภัยครับ

 

ก่อนอื่น ทำความเข้าใจก่อนนะครับ คุณผู้อ่านเรียกผู้ประสบอุบัติเหตุรถเละ ตกตึก หรือไส้ติ่งแตก ว่าผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินมั้ยครับ โรคลมแดดหรือ Heat stroke นี่เป็นภาวะฉุกเฉินวิกฤติ ที่พบได้บ่อยในช่วงเดือนเมษายนที่ร้อนจัด ปี 2564 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดถึง 8 ราย โดยทั้งหมดเป็นเพศชายอายุระหว่าง 40-75 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร รองลงมาคือรับจ้างทั่วไป มีหัวหน้าพนักงานล้างรถคนนึงเล่าให้หมอฟังว่าเพิ่งออกจากโรงพยาบาลด้วย Heat stroke และตอนนั้นคือ “ฤดูฝน” ด้วยซ้ำ แปลว่าเมืองไทยซึ่งรวมกรุงเทพฯ อยู่ด้วยนั้น เสี่ยง

 

โรคลมแดดในประเทศไทยมีรูปแบบชัด ด้านอาชีพและพฤติกรรมมีบทบาทสำคัญ เกือบหนึ่งในสี่ของผู้ป่วยเป็นเกษตรกร ซึ่งสอดคล้องกับการทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน อีกกลุ่มหนึ่งคือรับจ้างทั่วไป พวกเขาเสี่ยงจากการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานานโดยขาดการป้องกันหรือดื่มน้ำไม่เพียงพอ หมอหวังว่าพวกเขาจะมีข้อมูลความรู้และเครื่องมือป้องกันภัยเพียงพอ

 

คุณผู้อ่านอยู่ในนี้มั้ย?

 

•    สัมผัสแสงแดดจากอาชีพ: ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น เกษตรกรและกรรมกรก่อสร้าง มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากได้รับแสงแดดโดยตรง ทำทุกวันก็เสี่ยงทุกวัน

•    อายุและเพศ: เพศชายวัยกลางคนถึงสูงอายุ มีอัตราการเกิดโรคสูงกว่า อาจเป็นผลมาจากปัจจัยด้านอาชีพและสรีรวิทยา

•    พฤติกรรม: การทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่แดดร้อนจัด เพิ่มความเสี่ยงอย่างมาก

 

กลไกของโรค

 

โรคลมแดดเกิดขึ้นเมื่อระบบควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทำงานหนักเกินไป ส่งผลให้มีอุณหภูมิแกนร่างกาย (core body temperature) สูงถึง 40°C (104°F) หรือสูงกว่า เกิดจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ทัน ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้สมองและอวัยวะสำคัญอื่น ๆ ได้รับความเสียหาย

 

อาการสำคัญ:

 

•    อุณหภูมิร่างกายสูงโดยไม่ขับเหงื่อ

•    ผิวหนังร้อน แดง แห้ง หรือชื้น

•    ชีพจรเต้นเร็วและแรง

•    ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้

•    อาจมีอาการสับสน มึนงง หรือหมดสติ

 

การปฐมพยาบาล: การลดอุณหภูมิร่างกายอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรคลมแดด:

 

•    เคลื่อนย้ายไปยังสถานที่เย็น: พาผู้ป่วยไปยังบริเวณที่มีร่มเงาหรือห้องปรับอากาศ

•    ระบายความร้อนออกจากร่างกาย: ประคบด้วยผ้าเย็นชื้น หรือแช่น้ำเย็นเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายอย่างรวดเร็ว

•    ให้สารน้ำ: กรณีผู้ป่วยยังมีสติ ให้ดื่มน้ำเย็นหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ ควรหลีกเลี่ยงคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมออาจนึกถึงไอศครีม แต่รอหายดีก่อนดีกว่า

•    รีบไปพบแพทย์: เนื่องจากโรคลมแดดอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

การป้องกัน

 

•    ดื่มน้ำ: ดื่มน้ำเป็นประจำ แม้ไม่รู้สึกกระหายน้ำ เพื่อให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ

•    สวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม: เลือกเสื้อผ้าเนื้อบางเบา สีอ่อน และหลวม เพื่อระบายความร้อนได้ดี

•    ป้องกันแสงแดด: สวมหมวก ใส่แว่นกันแดด และทาครีมกันแดด เพื่อป้องกันแสงแดดโดยตรง

•    หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง: ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเวลาที่แดดจัดที่สุด โดยทั่วไปคือช่วง 10.00 - 16.00 น.

•    ปรับตัวกับสภาพอากาศ: ค่อยๆ ปรับตัวโดยการออกไปกลางแจ้งทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายเคยชินกับอากาศร้อน

•    การช่วยเหลือจากสังคม: ให้ความดูแลเป็นพิเศษกับกลุ่มเสี่ยง จัดตั้งสถานที่คลายร้อน และเผยแพร่ข้อมูลเตือนภัยคลื่นความร้อน

 

หมอเข้าใจว่าการป้องกันโรคลมแดดไม่ได้เหมาะหรือเป็นไปได้สำหรับทุกคน หลายอาชีพน่าเห็นใจมากๆ การเดินทาง การทำงานกลางแจ้ง การใส่เครื่องป้องกันที่เหมาะสม ถ้าคุณผู้อ่านคือกลุ่มเสี่ยง หรือมีข้อสงสัยประการใด โปรดปรึกษาคุณหมอที่ดูแลคุณนะครับ

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
นพ. ศาสตรา ทัพศาสตร์
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป