โรคในหน้าร้อนไทย ตอนที่ 1: อาหารเป็นพิษ

05 มีนาคม 2567

นายแพทย์ ศาสตรา ทัพศาสตร์

โรคในหน้าร้อนไทย ตอนที่ 1: อาหารเป็นพิษ (Food poisoning)

สวัสดีคนไทยภายใต้แสงแดดแผดเผา หน้าร้อนมาถึงแล้ว และที่กำลังจะมาถึงคือหน้าร้อนเรือหาย ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อากาศร้อนกับรถติดนี่แหละครับที่ทำให้เราทุกคนเท่าเทียม ปีก่อนหมอได้เล่าเรื่องฮีทสโตร์คไป ปีนี้มาทบทวนกันหน่อยให้กว้างขึ้นอีก เมื่อปีก่อน (ของปีนี้ยังไม่มี) กรมควบคุมโรคเตือนโรคในฤดูร้อนที่ควรระวังได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินอาหาร กับโรคที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมครับ ซีรียส์นี้หมอจะค่อยๆ เล่าเป็นรายโรคไปครับ วันนี้จะชวนคุณผู้อ่านคุยกับโรคติดต่อทางเดินอาหารอย่างแรก คือ Food poisoning (อาหารเป็นพิษ)

ร้านส้มตำโปรดกับน้ำอัดลมที่กินไปเช็ดเหงื่อไปบนฟุตบาต แล้วไม่กี่ชั่วโมงต่อมาก็ปวดเกร็งท้องและอาเจียน ภาพจำที่หลายท่านคุณเคยไม่ว่าจะประสบการณ์ตัวเองหรือคนรู้จัก ความสุขไม่กี่นาทีกลายเป็นความน่าเบื่อ ตัวร้ายอย่าง Staphyloccus aureus ในแกงกะทิที่ไม่ได้ถูกสุขอนามัย หรือ Vibrio parahaemolyticus ที่หลบอยู่ในจานอาหารทะเลกองโตตรงหน้าคุณ อ่อ ที่เรียกว่าโรคอาหารเป็นพิษ เพราะเชื้อโรคพวกนี้สร้างสารพิษมาทำร้ายเราครับ

เมื่อปีที่แล้ว 70,010 คือจำนวนคนไทยที่อาหารเป็นพิษ พวกมันไม่สนใจว่าคุณจะเป็นใคร ทำงานหรือฐานะอะไร จะเป็นเพศไหน หรืออาศัยที่ใด อย่างไรก็ตาม ข้อมูลชี้ว่าพบมากขึ้นในสถานที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน หรือตามงานเทศกาลต่างๆ มันเป็นเพียงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจมองข้ามไปได้ คุณผู้อ่านคุ้นเคยภาพนี้เหมือนหมอมั้ยครับ

 

-     ลูกค้าคนนึงลองเอามือจับไก่ทอดที่ร้านอาหารทอดข้างถนน แล้วบอกว่า “อันนี้ไม่ร้อน ไม่เอาละกัน” เสร็จแล้วเอามือเช็ดกับเสาร่มสนาม

-     ลูกค้าอีกคนนึงเอามือจิ้มซาลาเปาในตู้นึ่งเพื่อดูว่าลูกไหนร้อนบ้าง

-     มอเตอร์ไซค์รับจ้างใช้มือล้วงเข้าไปในรถเข็นผลไม้จับดูว่าแคนตาลูปท่อนไหนเย็น “เอาอันนี้เย็นกว่า”

-     กินอาหารซีฟู้ดด้วยมือ ใช้น้ำจิ้มถ้วยเดียวกับคนอื่น

-     มันฝรั่งทอดห่อใหญ่ ใช้มือล้วงเข้าไปทั้งแผนก

-     อันนี้ผมชอบมากเลย มันฝรั่งยี่ห้อนึงโฆษณาว่า “ชอบมันฝรั่งรุ่นนี้ครับ เพราะกินตอนขับรถได้ ไม่เปื้อนพวงมาลัย”

-     ข้าวสวยที่ไม่ได้แช่เย็น ไปใช้ทำข้าวผัดต่อ (เสี่ยงเชื้อ Bacillus cereus)

-     อาหารดิบ ค้างคืน อุ่นร้อนไม่พอ

-     ร้านอาหารรถเข็น ใช้น้ำที่ไหนล้างมือ

 

ส่วนใหญ่โรคนี้คนทั่วไปมักวินิจฉัยกันเองพอได้ครับ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว สิ่งสำคัญคือต้องเฝ้าระวังอาการเช่น เป็นนานกว่า 2 วัน มีอาการขาดน้ำ (เช่น วิงเวียนศีรษะ ปัสสาวะน้อยลง) ไข้สูง ถ่ายปนเลือด อะไรแบบนี้หมออยากให้พบแพทย์หน่อยนะครับ ยิ่งถ้าเป็นเด็กเล็ก สูงอายุ มีโรคประจำตัว เข้าโรงพยาบาลแต่เนิ่นๆ ดีกว่าครับ

ถ้าเป็นแล้วอาการไม่รุนแรง พยายามอย่าให้ขาดน้ำครับ ส่วนใหญ่กินไม่ค่อยได้เพราะคลื่นไส้ อย่างน้อยพยายามดื่มน้ำ เครื่องดื่มที่มีประโยชน์ หรืออาหารเหลว บ้างจะซื้อน้ำเกลือแบบซองรับประทานก็ได้ครับ และเฝ้าสังเกตสัญญาณที่ไม่ปลอดภัย

ไม่มีอะไรดีกว่าการป้องกันครับ ตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงปากของเรา ไม่มีขั้นตอนไหนที่จะปล่อยปละละเลยได้เลยครับ การเลือกซื้อวัตถุดิบ การปรุง การเก็บรักษา การเตรียมก่อนรับประทาน ความสะอาดของครัว โต๊ะอาหาร จานชาม การล้างมือ การใช้มือบนโต๊ะอาหาร ฯลฯ

#ทานให้อร่อยนะครับ ใครมีร้านลับก็แนะนำกันบ้าง

 

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
นพ. ศาสตรา ทัพศาสตร์
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป