วิธีรักษาข้อเข่าเสื่อมแบบการผ่าตัดรักษา

14 กุมภาพันธ์ 2567

นายแพทย์ ศาสตรา ทัพศาสตร์

 
  1. การใช้หัตถการ
             เมื่อใช้วิธีที่ผ่านมาแล้วยังไม่สามารถควบคุมโรคและอาการของโรคได้ดีพอ จะมีทางเลือกต่อมาซึ่งอาจจะทำร่วมกันหรือทำทีหลังก็ได้ คือการทำหัตถการทางกายภาพบำบัดที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าน่าจะช่วยบรรเทาอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม ได้แก่   
อัลตราซาวด์ ( ultrasound )
ฝังเข็ม ( acupuncture )
Laser or shock wave
TENS (Transcutaneous electrical nerve stimulation)  
ทุกวิธีอาจจะทำให้อาการเจ็บ บวม ลดลงได้บ้างเป็นครั้งคราว แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการดำเนินโรคในส่วนของกระดูกอ่อนที่สึกกร่อนด้านใน รอยโรคยังคงมีเหมือนเดิมเพียงแต่จะสร้างอาการเจ็บลดลงชั่วคราว
           ต่อมาเป็นหัตถการที่ทำโดยแพทย์ศัลยกรรมกระดูกได้แก่การใช้ยาที่ฉีดเข้าไปในข้อเข่าโดยตรง แบ่งได้เป็นสามกลุ่มคือ
1.Steroid 
2.Hyaluronic acid( HA) 
3. PRP (Platelet rich plasma)
          โดยสรุป กลุ่ม steroid จะช่วยลดการอักเสบได้เร็ว หายเจ็บไว ได้ผลดีเป็นระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือนแล้วอาจจะกลับมาเจ็บอีก ผลในการฉีดครั้งต่อ ๆ ไปจะลดปวดได้สั้นลง และในระยะยาว steroid อาจจะส่งผลให้กระดูกอ่อนที่เหลืออยู่มีความแข็งแรงลดลง สึกและพังได้เร็วขึ้น ส่วนยากลุ่ม Hyaluronic acid จะเป็นเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงผิวกระดูกอ่อนและเป็นสารหล่อลื่น ช่วยลดการเสียดสี ทำให้ cell กระดูกอ่อนเสียหายยากขึ้นและบางส่วนอาจจะช่วยให้มีการซ่อมแซมcellผิวกระดูกอ่อน และมีผลในการลดอักเสบในข้อเข่าเสื่อมได้ด้วย แต่ตัวยานี้จะมีการสลายหรือถูกดูดซึมออกไปจากข้อเข่าได้ภายใน  3-6 เดือน และพบว่าไม่ได้ผลกับผู้ป่วยทุกรายโดยเฉพาะเมื่อรอยโรคเป็นมากแล้ว และยังเป็นยาที่มีราคาแพงอีกด้วย
        สุดท้ายคือการใช้  PRP ( Platelet rich plasma ) นอกจากจะมีสารที่จะส่งผลลดการอักเสบได้แล้ว ยังมีสารหลายตัวที่ได้จากการปั่นเลือดที่มีประโยชน์ต่อผิดกระดูกอ่อน แต่ผลที่ดีเหล่านั้นอาจจะต้องรอเป็นระยะเวลาที่นานหลายๆ เดือนจนถึง 1 ปี และยังพบว่าในระยะสั้นหลังฉีดไปแล้วบางรายจะเจ็บและอักเสบมากขึ้น วิธีนี้จำเป็นต้องมีเครื่องมือพิเศษในการปั่นเลือดแยกสารที่มีประโยชน์มาฉีด ต้องเจาะเลือดผู้ป่วย และทำการฉีดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
      ดังนั้น การเลือกผู้ป่วยกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จริง ๆ จึงมีความสำคัญ ผู้ที่จะฉีดควรจะเป็นผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อมไม่เกินระยะที่ 3 เท่านั้น และควรมีแนวเข่าที่ไม่ผิดรูปเกินไป จากผลการศึกษาระยะยาวในข้อเข่าที่ฉีดไปก็จะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า มีผิวกระดูกอ่อนเกิดขึ้นใหม่ได้ ดังนั้นการเลือกฉีดยาทั้งสามกลุ่มจะเลือกผู้ป่วยที่จะฉีดต่างกัน หากเป็นระยะแรกๆ ควรเลือกฉีดเฉพาะ HA หรือ PRP หรือ ผสมทั้งสองอย่าง ส่วน steroid น่าจะฉีดในรายที่มีอาการอักเสบมาก เป็นครั้งคราว หรือเป็นข้อเข่าเสื่อมระยะสุดท้าย ที่มีข้อห้ามในการผ่าตัด หรือระหว่างรอการผ่าตัด เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ได้มีผิวกระดูกอ่อนที่ต้องระวังดูแลมากแล้ว เสมือนเป็นการซื้อเวลาชั่วคราวให้เข่าเจ็บลดลงบ้าง เพื่อพอใช้งานได้ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
 
  1. การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม
                  เมื่อผู้ป่วยมีอาการและ ระยะของโรคที่จำเป็นต้องผ่าตัด เช่น อาการเจ็บต่อเนื่องกันนานกว่า   6 เดือน x ray บ่งชัดว่าเป็นระยะที่ 4 ระยะรุนแรงแล้ว การใช้งานเข่าได้ไม่ปกติ เดินได้ สั้นลงมาก เจ็บจนไม่สามารถควบคุมด้วยยาหรือหัตถการต่าง ๆ ได้ การขยับงอเหยียดข้อเข่าได้ลดลง และแนวเข่าโก่งผิดรูปอย่างชัดเจน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม เพราะการยื้อเวลาไปกับการรักษาอื่นๆโดยพยายามเลี่ยงการผ่าตัดนั้นอาจจะทำให้สูญเสียโอกาสในการกลับมาใช้งานเข่าแบบปกติ ผู้ป่วยบางรายกลัวการผ่าตัดโดยยอมทนเจ็บ ไม่ใช้งานข้อเข่าเป็นเวลาหลายปี จนเกิดภาวะทุพลภาพมากขึ้นไปเรื่อย ๆ จนบางครั้งจะทำให้การผ่าตัดแก้ไขยากขึ้น การผ่าตัดต้องซับซ้อนมากขึ้น ฟื้นตัวยากขึ้น หรือต้องใช้เครื่องมือพิเศษราคาแพง และยังอาจจะทำให้การใช้งานหลังผ่าตัดไม่สมบูรณ์เต็มที่
                  การผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อมนั้นเป็นการแก้ไขข้อเข่าเสื่อมที่สาเหตุโดยตรงคือการใช้ข้อเข่าเทียมที่ออกแบบมาเพื่อเข้าไปทดแทนกระดูกอ่อนที่สึกเสียหายไป ทำให้ข้อเข่าหลังผ่าตัดไม่มีแผลกระดูกอ่อนที่จะเสียดสีสร้างอาการเจ็บและอักเสบเวลาใช้งานอีกต่อไป และอายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมปัจจุบันควรจะมีอายุยืนยาวใช้ได้นานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 15- 20 ปี ขึ้นไป
 
                    โดยสรุปคือ การจะเอาชนะข้อเข่าเสื่อมให้ได้นั้น เริ่มต้นด้วยการต้องรู้ว่าข้อเข่าเสื่อมอยู่ในระยะใด แล้วจึงจะเลือกวิธีที่จะเอาชนะที่เหมาะสมกับระยะของโรคและอาการที่ต้องการแก้ไข บางวิธีเพียงชะลอตัวโรคหรืออาการแต่ไม่ได้รักษาให้หายขาด บางวิธีต้องสูญเสียเงินทอง บางวิธีต้องรับสารเคมีเข้าร่างกายเป็นระยะเวลานาน บางวิธีจะต้องมีเจ็บตัวบ้าง ไปจนถึงวิธีผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมหากอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญ ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม สุดท้ายผู้ป่วยก็จะสามาถเอาชนะข้อเข่าเสื่อม จนสามารถกลับมามีการใช้งานเข่าที่  ปกติใช้ใช้ชีวิตประจำวัน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ โดยไม่มีอาการเจ็บได้แน่นอน ครับ  

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
นพ. ศาสตรา ทัพศาสตร์
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป