ไส้เลื่อนไม่ได้เป็นปัญหาของผู้ชาย แม้แต่ผู้หญิงก็มีความเสี่ยงเช่นกัน

07 กุมภาพันธ์ 2567

นายแพทย์ ศาสตรา ทัพศาสตร์

ระหว่างพักดื่มกาแฟในคาเฟ่ของที่ทำงาน Bank ถูกเพื่อนร่วมงานล้อมไว้

          “จะร้องเพลงหรอ ไม่ใช่วันเกิดผมนะ”

          “อยากยกลังเองรึไง เพื่อนๆ ทำงานแทนนายหมดละ อย่างน้อยนายน่าจะตอบแทนอะไรบ้าง รีวิวเรื่องไส้เลื่อนให้ฟังหน่อย พวกเราคุยกันแล้วเหมือนหมูกัดกัน จะเดินเข้าโรงพยาบาลไปถามหมอก็ไม่คุ้นเคย เลยมาถามนายดีกว่า” เพื่อนคนหนึ่งตอบ

          “เอาล่ะ ทุกคนมารวมตัวกัน จะได้ไม่ต้องตะโกน” Bank ตอบ “ที่จริงผมก็ถามหมอไปหลายเรื่อง ก็เพิ่งรู้ว่าตัวเองเข้าใจอะไรผิดมาตลอดเหมือนกัน”

          “ไส้เลื่อนออกมา แค่ดันกลับเข้าไปก็หายดี ก็มีใช่มั้ย” เพื่อนคนหนึ่งถามขึ้น

          Bank ยิ้มแล้วส่ายหัว “นั่นเป็นความเข้าใจผิดที่พบบ่อย แม้ว่าไส้เลื่อนบางตัวสามารถกลับเข้าไปได้ด้วยตนเอง แต่นี่เป็นเพียงการแก้ไขชั่วคราว ความอ่อนแรงเปราะบางของผนังกล้ามเนื้อยังคงอยู่ หากไม่มีการผ่าตัดซ่อมแซมที่เหมาะสม ไส้เลื่อนก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีก ถ้าทิ้งไว้นานพอ จะเกิดปัญหาหนักๆ ตามมาได้ด้วย”

          เพื่อนร่วมงานอีกคนถามด้วยความสงสัยว่า “แต่ไส้เลื่อนเกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่ยกของหนักเท่านั้นใช่หรือไม่ นายก็เลยให้คนอื่นยกแทน"

          “บริษัทเราแซะเก่งจริงๆ ความจริงแล้ว แม้ว่าการยกของหนักอาจส่งผลต่อการเกิดไส้เลื่อนได้ แต่ไม่ใช่สาเหตุเดียว ไส้เลื่อนอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย รวมถึงความบกพร่องทางพันธุกรรม การไอเรื้อรัง โรคอ้วน และแม้กระทั่งการตั้งครรภ์ของผู้หญิง มันเกิดจากแรงกระทำต่อผนังหน้าท้องและบริเวณหน้าท้องนั้นไม่แข็งแรง เลยเกิดไส้เลื่อนออกมา"

          Bank พูดต่อ “ใช่ ไส้เลื่อนไม่ได้เป็นปัญหาของผู้ชาย แม้แต่ผู้หญิงก็มีความเสี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะไส้เลื่อนที่ต้นขาและไส้เลื่อนกระบังลม"

          เพื่อนร่วมงานรุ่นน้องคนหนึ่งถามว่า "ฉันอ่านเจอบางที่ที่ไส้เลื่อนสามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง จริงไหม?"

          Bank ตอบว่า "นั่นเป็นอีกความเชื่อผิดๆ ไส้เลื่อนไม่สามารถหายเองได้ ที่จริงแล้ว การปล่อยให้ไส้เลื่อนไว้โดยไม่รับการรักษาอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น เลือดที่ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อไส้เลื่อนไม่เพียงพอ

          "หากพวกนายสงสัยว่าเป็นโรคไส้เลื่อน อย่าพึ่งความรู้ทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงไอ้บทความที่กำลังอ่านอยู่นี้ด้วย พวกนายไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญดีกว่า”

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
นพ. ศาสตรา ทัพศาสตร์
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป