หัวใจ กลไก ไอแดด

02 พฤษภาคม 2566

นายแพทย์ ศาสตรา ทัพศาสตร์

หัวใจ กลไก ไอแดด
“ไทยอยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์”

คนไทย ที่รัก 
            แดดอย่างนี้น่าตากผ้า และซื้อแผงโซลาร์ติดบ้านจริงๆ (ยิ่งเห็นค่าไฟด้วยแล้ว อื้อหือ) ไทยเป็นเมืองร้อนอย่างที่ท่านผู้อ่านเข้าใจกันดีครับ แต่ความเคยชินไม่ได้เปลี่ยนความจริงที่ว่าอากาศร้อน และแสงแดดมาพร้อมกับอันตรายเป็นขบวน ภาวะฮีทสโตร์ค ที่เพิ่งเป็นข่าวดังเมื่อไม่นานมานี้เริ่มทำให้สุขภาพและอากาศร้อนเป็นที่ตระหนักมากขึ้น หมออยากแบ่งปันข้อมูลและเทคนิคสั้นๆ เพื่อให้ท่านผู้อ่านและครอบครัวได้ดูแลสุขภาพได้อย่างปลอดภัยในช่วงหน้าร้อนนี้

            ไลฟ์สไตล์ของคนในแต่ละวันต้องสัมผัสกับอากาศร้อนและแสงแดดอย่างเลี่ยงไม่ได้ บางอาชีพ เช่น ตำรวจจราจร ช่างผู้รับเหมา ไรเดอร์ พนักงานรักษาความปลอดภัย และอีกมากมาย น่าเห็นใจมากครับที่ต้องเจอกับแสงแดดและอากาศร้อน ไม่รู้จะหนีไปทางไหน ยิ่งด้วยเครื่องแบบที่ทำร้ายร่างกายผู้สวมใส่ได้อีก คุณหมอที่ต้องสวมใส่เสื้อกาวน์และเครื่องแบบของคุณพยาบาล พนักงานสวมใส่เนคไทค์ใส่สูท ร้อนมากแม้จะไม่ได้ทำงานกลางแจ้งเสมอไปก็ตาม ไทยเป็นประเทศที่อากาศร้อนชื้นทำให้เหงื่อระเหยออกจากร่างกายได้ยาก ยิ่งทำให้อากาศร้อนนี้ยิ่งร้อนเข้าไปอิ้ก

             Fun Fact: กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในเมืองที่ร้อนที่สุดในโลกจากบันทึกของ World Meteoroligal Organization อากาศร้อนทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำได้อย่างรวดเร็ว ขาดน้ำเร็วกว่าปกติ การรักษาระดับน้ำในร่างกายสำคัญต่อระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พยายามดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอแม้จะไม่ได้รู้สึกกระหายมากนัก โดยปกติผู้ใหญ่ต้องการน้ำวันละ 2-2.5 ลิตร การรับประทานผักผลไม้ที่มีประมาณน้ำมากเช่นแตงโม (มีน้ำ 92%) สับปะรด (น้ำ 87%) และ แตงกว่า (น้ำ 96%) ช่วยเติมน้ำให้ร่างกายได้อีกด้วย

             65% ของเนื้องอกผิวหนังประเภท Malignant Melanoma (มะเร็งผิวหนังร้ายแรงของเซลล์เมลาโนไซต์) และ 90% ของมะเร็งผิวหนังอื่น ส่วนใหญ่เป็นบริเวณที่ถูกแดดบ่อย เช่น จมูก ริมฝีปากบน โหนกแก้ม มีสาเหตุจากรังสี UV ที่ปะปนอยู่ในแสงอาทิตย์ เป็นรังสีที่สายตามนุษย์มองไม่เห็น ส่งผลทำร้ายผิวหนังทำให้ผิวหยาบแห้งกร้าน ผิวแก่ก่อนวัย และเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งผิวหนัง ควรหาทางปกป้องผิวหนังจากแสงแดดโดยใช้ครีมกันแดดที่มี SPF อย่างน้อย 30 เพื่อปกป้องผิวหนัง ใช้ทาแม้ในวันที่มีเมฆมาก และอาจจำเป็นต้องทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมงหากทำกิจกรรมทางน้ำหรือมีเหงื่อออกมาก หากเป็นไปได้ควรสวมเสื้อผ้าแขนและขายาวเนื้อบางเบา สวมหมวก และแว่นตาที่มีคุณสมบัติป้องกันแสงจากดวงอาทิตย์

             1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวในประเทศไทยต้องเจอกับภาวะผิวหนังไหม้เกรียมจากแสงอาทิตย์ซึ่งในกรุงเทพมีช่วงเวลาที่ UV index สูงสุดที่ประมาณบ่ายโมงในช่วงฤดูร้อน และฤดูร้อนนี่มีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ล่าสุดบางจังหวัดในไทยทุบสถิติเกิน 45 องศาเซลเซียสไปแล้ว เปิดเครื่องทำน้ำอุ่นร้อนเท่านี้ก็แทบอาบไม่ได้แล้วครับ มีกรณีพี่น้องในหลายบ้านที่อาศัยกันหลายคนโดยไม่มีเครื่องปรับอากาศอาจมีอาการสูญเสียเหงื่อมาก วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ชีพจรเต้นเร็ว อาจถึงกับเป็นลมหมดสตินำส่งโรงพยาบาลหลายราย อากาศร้อนแบบนี้ควรวางแผนการทำกิจกรรมนอกบ้านให้เหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งแดดจัดในบางช่วงเวลา หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดหรือที่มีอากาศร้อนต่อเนื่องเป็นเวลานาน เมื่อมีอาการที่สงสัยว่าร่างกายร้อนกว่าปกติควรรีบพักในสถานที่อากาศเย็นลง ดื่มน้ำ หรือใช้การประคบเย็นเพื่อลดอุณหภูมิอย่างช้าๆ

             ประเทศไทยเป็นเมืองร้อนครับ แม้จะมีสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมกลางแจ้งที่ดึงดูดน่าสนใจแค่ไหน ต้องจำกัดความเสี่ยงต่อการสัมผัสอากาศร้อนและแสงแดดจัดให้มากเท่าที่ได้ แนวโน้มอากาศมีแต่จะร้อนขึ้นเรื่อยๆ ขอให้ปรับตัวเพื่อสุขภาพดีในระยะยาว #เราไม่อยากให้ใครป่วยครับ

 

สอบถามเพิ่มเติม  / นัดหมายพบแพทย์

เพิ่มเพื่อน

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
นพ. ศาสตรา ทัพศาสตร์
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป