ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภัยร้ายที่มาพร้อมเสียงกรน

16 กรกฎาคม 2563

นายแพทย์ ชาญสิริ เสกสรรค์วิริยะ

อาการกรน เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในคนทั่วไป หลายท่านอาจคิดว่าเป็นเรื่องปกติหรือน่าขัน แต่อาการกรนอาจมาพร้อมกับภัยร้ายนั่นคือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

"ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น" หรือทางการแพทย์เรียกว่า Obstructive Sleep Apnea (OSA) เป็นภาวะที่เกิดการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วเป็นช่วง ๆ ในขณะที่เราหลับ

  • ในคนปกติ ขณะหลับ กล้ามเนื้อรอบคอหอยและโคนลิ้นจะหย่อนตัวลงและปิดทางเดินหายใจได้เล็กน้อย การหายใจในช่วงนอนหลับจะยังคงเป็นปกติ อาจมีการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วได้เฉลี่ย "ไม่เกิน 5 ครั้งต่อชม."
  • แต่บางคนที่มีโครงสร้างบางอย่าง อาจทำให้เกิดการตีบแคบเกิดขึ้น เช่น อายุมากขึ้น มีเพดานอ่อนหรือลิ้นไก่หย่อนยาน ภาวะอ้วน หรือโครงสร้างใบหน้าที่มีคางเล็กหรือคางสั้น ทำให้ลิ้นตกขณะนอนหลับมากขึ้น ทำให้ทางเดินหายใจบริเวณคอหอย เกิดการตีบแคบง่ายขึ้นขณะหลับ เกิดการหยุดหายใจ หรือหายใจแผ่วเป็นช่วงๆได้ ซึ่งเป็นผลเสียต่อร่างกายในระยะสั้นและระยะยาว

 
หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา ?

  • ระยะสั้น : การหยุดหายใจเป็นช่วงๆขณะนอนหลับ ทำให้ร่างกายเกิดการตื่นตัวเรื่อย ๆ ขณะนอนหลับ ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ หลับไม่ลึก เกิดความง่วงระหว่างวัน ความจำไม่ดี สมองไม่ปลอดโปร่ง หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ปวดหัวช่วงเช้า
  • ระยะยาว : เมื่อมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ จะทำให้หัวใจและปอดทำงานหนักขึ้น มีภาวะความดันโลหิตสูงได้ในอนาคต หรือควบคุมความดันโลหิตได้ยากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น 

เมื่อไหร่ถึงควรสงสัยว่าคุณกำลังเสี่ยงกับโรคนี้ ?

เรามักสงสัยภาวะนี้ในคนที่มีปัจจัยเสี่ยง หรืออาการสำคัญ ได้แก่ (รวมกันอย่างน้อย 3 ข้อขึ้นไป)

  • มีอาการกรนดัง
  • มีความง่วงในระหว่างวัน ต้องผล็อยหลับบ่อยๆ ถึงแม้มีชม.การนอนที่เพียงพอ 7-8 ชม.
  • มีคนเห็นว่ามีหยุดหายใจเป็นช่วงๆขณะหลับ
  • มีภาวะความดันโลหิตสูง
  • มีภาวะอ้วน
  • อายุมากกว่า 50 ปี
  • ความยาวเส้นรอบคอ มากกว่า 40 ซม.
  • เพศชาย

การวินิจฉัยโรค

ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยภาวะนี้ ใช้เครื่องมือที่เป็นมาตรฐานและมีความแม่นยำสูง คือ "การตรวจการนอนหลับ" หรือ sleep test

  • ปัจจุบันมีหลายประเภท ได้แก่ การตรวจการนอนหลับเต็มรูปแบบ (ค้างคืนที่รพ.) หรือ การตรวจการตรวจการนอนหลับโดยมีอุปกรณ์ไปติดที่บ้าน (Home sleep apnea test)
  • โดยจะเป็นการตรวจเพื่อวิเคราะห์คุณภาพการนอนหลับอย่างละเอียด ได้แก่ ระดับความลึก-ตื้นของการหลับ ระบบการหายใจขณะนอนหลับ การตื่นตัวของสมอง และการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติขณะหลับ เพื่อยืนยันว่ามีการหายใจที่ผิดปกติขณะนอนหลับจริงหรือไม่
  • วินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เมื่อตรวจพบ ค่า "ดัชนีการหยุดหายใจและหายใจแผ่ว" (Apnea-hypopnea index) มีจำนวนมากกว่าหรือเท่ากับ 5 ครั้งต่อชม.

 
การรักษา

  • เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Positive airway pressure หรือ CPAP)

เป็นอุปกรณ์สร้างแรงดันบวก โดยสวมเป็นหน้ากากใส่ขณะนอนหลับ เครื่องนี้จะช่วยสร้างแรงดัน เข้าไปถ่ายขยายจุดที่มีการตีบแคบบริเวณคอหอยให้กว้างขึ้น ทำให้การหายใจไม่มีการติดขัดขณะหลับ

  • การผ่าตัดแก้ไข

ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่ไม่รุนแรง หรือทนแรงดันจากการใช้เครื่องอัดอากาศไม่ได้ ซึ่งการผ่าตัดจะต้องแก้ไขไปตามตำแหน่งที่สงสัยว่าเกิดการตีบแคบขณะหลับ เช่น ผ่าตัดต่อมทอนซิล ผ่าตัดแก้ไขลิ้นไก่หรือเพดานอ่อนที่หย่อนยาน ผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นจมูกที่คดเอียง หรือการใช้คลื่นวิทยุจี้เพื่อลดขนาดเยื่อบุจมูกที่บวมจากภูมิแพ้ เป็นต้น

  • อุปกรณ์ทันตกรรม (Oral appliance)

เป็นอุปกรณ์ที่ใส่ในช่องปากขณะนอนหลับ ซึ่งต้องปรึกษาทันตแพทย์ จุดประสงค์เพื่อทำให้ลิ้นไม่ตกขณะหลับ และโครงสร้างคอหอยตีบแคบลดลงขณะหลับ

  • การรักษาอื่นๆ
    • การลดน้ำหนัก และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
    • การนอนตะแคง อาจช่วยลดอาการนอนกรน หรือการหยุดหายใจได้ในคนบางกลุ่ม ปฏิบัติได้ยาก และในระยะยาว ยังไม่มีการศึกษาว่ามีเกิดประโยชน์ในการรักษาที่ชัดเจน
    • การรักษาโรคร่วมโดยการใช้ยา เช่น ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์เพื่อรักษาโรคภูมิแพ้

 
หากท่านมีอาการที่สงสัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ เพื่อการประเมินเบื้องต้น และพิจารณาส่งตรวจการนอนหลับ (Sleep test) ต่อไป

 


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เพิ่มเพื่อน

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
นพ. ชาญสิริ เสกสรรค์วิริยะ
ความชำนาญ : โสต ศอ นาสิกวิทยา (Otolaryngology) โสต ศอ นาสิกวิทยาการนอนหลับ