ปวดกล้ามเนื้อกับการรักษาด้วยวิธีฝังเข็ม

13 พฤษภาคม 2563


 

”อาการปวดกล้ามเนื้อพบว่าเป็นอาการยอดนิยมที่คนส่วนใหญ่เข้ามาปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาล  ทุกวันที่หมอเข้าตรวจจะมีคนไข้มาหาเพราะเรื่องปวดกล้ามเนื้อประมาณ 90% ครับ และตำแหน่งที่พบว่ามีอาการปวดมากที่สุด หนีไม่พ้น คอ บ่า สะบัก รองลงมาจะเป็น หลัง สะโพก หัวไหล่ ข้อพับเข่า น่องและเท้า” ตามลำดับ

สาเหตุและอาการแสดงของภาวะปวดกล้ามเนื้อ
เพราะกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงมีโอกาสหดเกร็งค้าง ทำให้เรามีอาการปวด คลำได้เป็นก้อนแข็งๆบริเวณนั้น หากอาการหดเกร็งนั้นรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดการปวดร้าวจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ร่วมกับมีอาการชา หรือ รู้สึกอ่อนแรง ได้เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็งบริเวณบ่า จะมีอาการปวดจากบ่า ร้าวไปที่คอและขมับ , กล้ามเนื้อหดเกร็งบริเวณสะบัก จะมีอาการปวดสะบักร้าวลงแขน และชาปลายนิ้ว อาการเหล่านี้บางครั้งถูกเข้าใจผิดว่าเป็นไมเกรน บ้าง หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทบ้าง

กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการปวดจากภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง

  1. ท่าทางการทำงาน หรือมีโครงสร้างของร่างกายที่ไม่เหมาะสม

  2. บุคคลที่ต้องทำกิจกรรมใดก็ตามซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน

  3. บุคคลที่มีภาวะเครียด ทำงานหักโหม พักผ่อนไม่เพียงพอ

  4. บุคคลที่ได้รับอุบติเหตุ หรือ มีการบาดเจ็บของเส้นประสาท กระดูก ข้อต่อ

  5. มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ เช่น โรคไทรอยด์,โลหิตจาง หรือ ได้รับสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุไม่เพียงพอ
     

การฝังเข็มเทคนิคตะวันตก “Dry needling therapy” คืออะไร
เป็นการลงเข็มเล็กๆแบบเดียวกับเข็มจีน ผ่านเข้าสู่ผิวหนัง โดยให้ปลายเข็มไปสะกิดใยกล้ามเนื้อที่หดเกร็งอยู่ ให้กระตุก คลายตัวออกมาทันที ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที ต่อการฝังเข็มที่กล้ามเนื้อ 1ตำแหน่ง ขณะทำการรักษาจะรู้สึกเจ็บจากภาวะกล้ามเนื้อกระตุกคลายตัวออก เพียงเล็กน้อย หลังทำจะรู้สึกเบาโล่งขึ้นแต่อาจรู้สึกช้ำ บริเวณลงเข็มได้ประมาณ 2-3วัน วิธีการรักษานี้ มีข้อดีคือ เห็นผลเร็วและใช้เวลาในการรักษาน้อย

วิธีปฏิบัติตัวหลังการฝังเข็ม
สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติ ควรมีการประคบเย็นครั้ง 5-10 นาที ร่วมกับการค่อยๆยืดกล้ามเนื้อและหลีกเลี่ยงการใช้งานหักโหมของกล้ามเนื้อมัดนั้น จะทำให้หายจากภาวะระบมเข็มเร็วขึ้น

ข้อจำกัดของการรักษาฝังเข็ม

  1. ไม่เหมาะกับคนที่กลัวเข็ม

  2. กล้ามเนื้อบางตำแหน่งอยู่ใกล้อวัยวะที่สำคัญ อาจรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ได้ ขึ้นกับดุลยวินิจของแพทย์

  3. ไม่เหมาะกับคนที่มีภาวะเลือดออกง่าย หยุดไหลยาก

อย่างไรก็ตาม ยังมีการรักษาภาวะปวดกล้ามเนื้อด้วยเครื่องมือต่างๆอีกมากมายที่ให้ผลดี เช่น การยืดกล้ามเนื้อ, การประคบอุ่น, การนวด หรือ การใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น Ultrasound, Shock wave therapy, Traction เป็นต้น

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เพิ่มเพื่อน