เด็กจมน้ำ ภัยร้ายช่วงปิดเทอม

13 พฤษภาคม 2563


ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของทุกๆปี (มีนาคม-พฤษภาคม) จะพบมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 400 – 500 คน จากข้อมูลการเสียชีวิตของสํานักนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุขในช่วง 12 ปี ที่ผ่านมา พบว่ามีเด็กจมน้ําเสียชีวิตสูงถึง 5,298 คน  (ผลสำรวจข้อมูลของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค)

โดยปกติจะพบเด็กจมน้ำมากในช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์  และสำหรับช่วงปิดเทอมมักพบเด็กจมน้ำมากในช่วงเวลา 12.00 น. – 18.00 น.  เพราะเป็นช่วงที่มีอากาศร้อน 
แหล่งน้ำที่พบเด็กจมน้ำมากที่สุดคือ
-แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อการเกษตร
-รองลงมาคือ คู
-คลองระบายน้ำข้างบ้าน 

ซึ่งสาเหตุของการจมน้ำส่วนใหญ่พบว่า 
-เกิดจากการเล่นน้ำ มากที่สุดถึงร้อยละ 57 
-รองลงมาคือ การปล่อยเด็กเล่นน้ำเพียงลําพัง และโดยส่วนมากจะไม่สามารถช่วยเหลือได้ทันเนื่องจากเด็กเสียชีวิตแล้ว 

ในกรณีที่ผู้พบเห็นเหตุการณ์ และญาติให้การช่วยเหลือโดยการปฐมพยาบาลพบว่า
เป็นการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องเพียงร้อยละ 15.2 นอกจากนั้นเป็นการช่วยเหลือด้วยการจับเด็กอุ้มพาดบ่ากระโดด ,กระแทก หรือเขย่าเพื่อเอาน้ำออก ซึ่งเป็นวิธีการปฐมพยาบาลที่ผิด  เพราะความพยายามที่จะเอาน้ำออกไม่มีความจำเป็นและอาจก่อให้เกิดผลเสียได้เพราะเด็กจะอาเจียนและอาจทำให้สำลัก อีกทั้งทำให้การช่วยชีวิตเด็กช้าลงอีกด้วย

สำหรับวิธีช่วยเหลือเด็กจมน้ำที่ถูกวิธี มีดังนี้
-เมื่อช่วยเด็กขึ้นมาจากน้ำ และเด็กไม่หายใจ ควรเป่าปากทันทีเพื่อช่วยหายใจ
-และหากไม่แน่ใจว่ามีชีพจรหรือไม่ ให้ใช้วิธีนวดหัวใจโดยกดหน้าอกให้ยุบลงไปประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอก ความเร็วอย่างน้อย 100 ครั้ง/นาที
-สลับกับการเป่าปากในอัตราส่วน 30:2 หรือจำง่ายๆ คือ เป่าปาก 2 ครั้ง และปั๊ม 30 ครั้ง ทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าเด็กจะรู้สึกตัว หรือจนกว่าจะมีทีมแพทย์มาช่วยเหลือ 

ดังนั้นการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) อย่างถูกวิธีจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยรอดชีวิต  และลดการบาดเจ็บจากการจมน้ำ 
เนื่องจากสมองคนเราถ้าขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเกิน 4 นาที จะมีผลทำให้เกิดการสูญเสียของเซลล์สมองบางส่วนไปได้อย่างถาวร แม้หัวใจจะสามารถกลับมาเต้นใหม่ได้ในภายหลัง แต่สมองส่วนที่เสียไปแล้วจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถฟื้นคืนสติกลับมาได้สมบูรณ์ดังเดิม ดังนั้นการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน หรือที่เรียกว่า “CPR” จึงถือเป็นหนึ่งวิธีการที่จะยื้อชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นกระทันหันได้เป็นอย่างดี

การป้องกันการจมน้ำของเด็ก  เราสามารถทําได้ง่ายๆ ดังนี้

  1. จัดการแหล่งน้ำเสี่ยงเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่เด็ก เช่น ปักป้ายเตือน และบอกถึงระดับความลึกของน้ำ
  2. ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ ไว้บริเวณแหล่งน้ำ เช่น  ถังแกลลอนพลาสติก  นกหวีด ไม้ยาว  เสื้อชูชีพ เป็นต้น
  3. สอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยง เช่น สระน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง เป็นต้น
  4. ให้ความรู้กับผู้ปกครอง และเด็กในการช่วยเหลือคนตกน้ำ หรือจมน้ำ โดยเน้นหลัก “ตะโกน โยน ยื่น” เพื่อให้เด็กตะโกนขอความช่วยเหลือเมื่อตกอยู่ในอันตราย หรือมีเพื่อนจมน้ำ

อย่างไรก็ตามการป้องกันไม่ให้เด็กจมน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “อย่าปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง" ยิ่งเป็นเด็กเล็ก ยิ่งต้องอยู่ในระยะที่มือเอื้อมหรือคว้าถึง และหากเกิดเหตุการณ์จมน้ำ ผู้พบเห็นควรมีสติ และปฏิบัติตามหลัก “ตะโกน โยน ยื่น” โดยไม่ลังเลที่จะช่วยเหลือ  ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในสังคม


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เพิ่มเพื่อน