ข้อเข่าเสื่อม กับการผ่าตัด

13 พฤษภาคม 2563


 

เมื่อผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมีอาการรุนแรง และไม่รู้สึกทุเลาลงภายหลังได้รับการรักษาด้วยการใช้ยา ก็อาจถึงเวลาของการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีที่นิยมใช้อยู่ด้วยกัน 4 รูปแบบ ได้แก่

  1. การส่องกล้องล้าง (Arthroscopic debridement) แพทย์จะพิจารณาใช้ในรายที่การเสื่อมของข้อเข้ายังไม่มาก (ที่สำคัญคือขาของผู้ป่วยต้องยังไม่โกง) และโดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการ เข่าล็อค เวลางอเข่าแล้วรู้สึกติดขัดมาก หรือสงสัยว่าหมอนรองกระดูกแตก เป็นต้น

  2. การผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก (Osteotomy) จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเข่าโกงเล็กน้อย ซึ่งแพทย์จะทำการผ่าตัดและปรับให้กระดูกเอียงกลับมาในทิศทางตรงกันข้าม เพื่อลดแรง ผ่านข้อด้านที่มีการสึกมากกว่า โดยจำเป็นต้องใส่เหล็กดามเข้าไป เหมาะกับผู้ป่วยที่อายุน้อยและเข่ายังเสื่อมไม่มาก ที่สำคัญคือ เข่าต้องเสื่อมเพียงด้านเดียว (อาจเป็นด้านในหรือด้านนอกของเข่าก็ได้) อีกด้านหนึ่งต้องยังดีอยู่ ถ้าเข่าเสื่อมทั้ง 2 ด้าน หรือลูกสะบ้าเสื่อมมากๆ จะไม่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีนี้ได้ ข้อเสียของการผ่าตัดด้วยวิธีนี้คือ ผู้ป่วยอาจจะเดินลงน้ำหนักได้ช้า คือ ต้องรอหลายสัปดาห์ ถึงจะให้ลงน้ำหนักได้เต็มที่และจะใช้เวลานานหลังผ่าตัดจึงจะหายปวด ส่วนข้อดีคือ ยังไม่ต้องใส่ข้อเทียมในเข่าและสามารถเก็บเนื้อกระดูกเดิมของคนไข้เอาไว้ได้อยู่

  3. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเสี้ยวเดียว (Unicompartmental knee replacement) ซึ่งมักจะเป็นการเปลี่ยนด้านในของข้อเข่า เหมาะกับผู้ป่วยที่เข่ายังโก่งไม่มาก และอีกด้านหนึ่งของเข่ายังดีและลูกสะบ้ายังไม่เสื่อม ข้อดีคือ แผลผ่าตัดจะมีขนาดที่เล็ก หลังผ่าตัดเจ็บไม่มาก สามารถที่จะลงน้ำหนักเดินได้ภายใน 1-2 วัน ทำให้ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล และกลับไปทำงานได้เร็ว ข้อเสียคือ ต้องมีการใส่ข้อเทียมเข้าไปทำให้เสียเนื้อกระดูกและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าการผ่าแบบที่ 2

  4. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Total knee replacement) คือการผ่าตัดที่ต้องเปลี่ยนผิว ที่คลุมกระดูกข้อเข่าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกระดูกต้นขา (Femur) กระดูกขา(Tibia) และอาจรวมทั้ง กระดูกสะบ้าด้วย โดยอาศัยการนำข้อเทียมเข้าไปครอบกระดูกที่เสื่อมไว้ ลักษณะคล้ายๆ กับการครอบฟันเมื่อฟันผุ ก็จะนำเหล็กเข้าไปครอบไว้ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยเข่าเสื่อมขั้นรุนแรง ที่ไม่สามารถใช้การผ่าตัดวิธีอื่นรักษาได้ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ว่าโดยมากแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 90) ที่มีอาการรุนแรงจนยอม หรือต้องการได้รับการผ่าตัดนั้น จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้

ดังนั้น เรามาลองทำความรู้จักกับเจ้า “ข้อเข่าเทียม” กันดูบ้าง ซึ่งผู้ป่วยหลายท่านอาจคิดว่า การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมจำเป็นต้องตัดกระดูกข้อเข่าที่เสื่อมทิ้งไปทั้งท่อนก่อน แล้วจึงค่อยใส่ข้อเทียมเข้าไปแทนที่ ซึ่งนับเป็นความเข้าใจที่อาจจะคลาดเคลื่อน  เพราะข้อเข่าเทียมที่ใช้ในการรักษาข้อเข่าเสื่อมนั้นไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่มากนัก และอาศัยการครอบลงบนกระดูกเท่านั้น

ข้อเข่าเทียมที่นิยมใช้ในปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่

  1. ข้อเข่าเทียมชนิดหมุนได้ (Mobile-bearing) เป็นข้อเข่าเทียมที่มีส่วนเป็นพลาสติก สามารถหมุนได้ซึ่งในทางทฤษฎีจะทำให้สามารถลดการสึกหรอของพลาสติกได้ดีขึ้น เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอายุน้อย หรือนักกีฬาที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเทียม

  2. ข้อเข่าเทียมธรรมดา (Fixed-bearing) ลักษณะเหมือนข้อเข่าเทียมชนิดหมุนได้ทุกประการ เพียงแต่ส่วนที่เป็นพลาสติกจะอยู่นิ่ง ซึ้งข้อเข่าเทียมชนิดนี้จะมีราคาที่ย่อมเยาว์กว่า และจากการศึกษาวิจัย ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติพบว่า ผลการรักษาที่ได้จะไม่แตกต่างกับการใช้ข้อเข่าเทียมชนิดหมุนได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอายุการใช้งาน หรือคุณภาพของการใช้งานรวมทั้งผู้ป่วย สามารถงอและเหยียดเข่าได้ไม่ต่างกัน นอกจากนั้นแล้ว การเลือกใช้ข้อเข่าเทียมชนิดธรรมดา จะทำให้แพทย์สามารถทำแผลผ่าตัดให้มีขนาดที่เล็กกว่าการใช้ข้อเข่าเทียมชนิดหมุนได้อีกด้วย

         การผ่าตัดข่อเข่านั้น ปัจจุบันได้มีการพัฒนาไปมากโดยเฉพาะในช่วง 5 ปีหลังนี้ ทำให้การผ่าตัดทำได้แม่นยำ รวดเร็ว และสามารถทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กกว่าในอดีตได้อย่างมาก โดยปัจจุบันแผลผ่าตัดจะมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 8-14 ซม. นอกจากนั้นแล้ว พัฒนาการของวิสัญญีแพทย์ หรือหมอดมยาก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้อาการเจ็บปวดในระยะหลังผ่าตัดนั้นลดลงได้กว่าในอดีตอย่างชัดเจน  ส่วนในแง่ของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีการนำมาใช้ช่วยในการผ่าตัดนั้น นอกจากเครื่อง Navigator ที่มีการใช้มาระยะหนึ่งแล้ว ก็ยังมีการนำเอา CT scan หรือ MRI มาช่วยในการผลิตเครื่องมือผ่าตัดเฉพาะสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อเพิ่มความแม่นยำ และลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดลงอีกด้วย แน่นอนว่าหลังการผ่าตัดข้อเข่าเทียมแล้วนั้น ผู้ป่วยจะสามารถกลับมาเดินได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหากไม่มีผลแทรกซ้อนใด

      โดยทั่วไปผู้ป่วยจะสามารถเดินได้ในวันที่ 2 หรือ 3 หลังผ่าตัด โดยอาศัยเครื่องพยุงเดิน เช่น Walker และ หลับบ้านได้ในวันที่ 4 ถึง 7 หลังผ่าตัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ สามารทำกายภาพด้วยตัวเองต่อได้ที่บ้าน และมักจะทิ้ง Walker ได้เมื่อประมาณ 1-3 สัปดาห์หลัง ผ่าตัด สำหรับในแง่ของอายุการใช้งานนั้น ปัจจุบันมีรายงานว่า ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 90 สามารถใช้งานข้อเทียมได้นานถึง 15-20 ปี จึงจะต้องได้รับการแก้ไขอีกครั้ง แต่ทั้งนี้อายุของข้อเข่าเทียมก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพร่างกายของผู้ป่วย ระดับของกิจกรรมที่ทำ น้ำหนักตัว และการใช้งานของข้อเข่า ตัวอย่างเช่น ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย และชอบการออกกำลังกายที่หักโหม หรือลงน้ำหนักที่ข้อมากๆ เช่น การเล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะก็อาจทำให้อายุการใช้งานของข้อลดลงได้

สุดท้ายนี้สำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่กำลังพิจารณาว่า จะเลือกการผ่าตัดรูปแบบใด ขอให้คำนึงถึงรูปแบบการใช้ชีวิตและอายุของท่าน ตลอดจนความรุนแรงของโรคเป็นหลัก รวมทั้งควรปรึกษาขอข้อมูลและร่วมตัดสินใจกับแพทย์ผู้ทำการรักษาด้วย

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เพิ่มเพื่อน