วัคซีนภูมิแพ้ชนิดฉีด ที่ช่วยรักษาภูมิแพ้ให้หายได้

12 พฤษภาคม 2563

แพทย์หญิง ภัทรา ตันติเจริญวิวัฒน์


การรักษาภูมิแพ้ ด้วยวัคซีนภูมิแพ้ ( Allergen Immunotherapy) คือ การใช้วัคซีนที่เตรียมจากสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้ มากระตุ้นให้ร่างกายของผู้ป่วยสร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ขึ้น

โรคที่รักษาได้ด้วยวัคซีนภูมิแพ้

  1. โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ( Allergic Rhinitis)

  2. โรคหืดจากภูมิแพ้ ( Allergic Asthma)

  3. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ( Atopic dermatitis)

แพทย์เฉพาะทางด้านภูมิแพ้จะเป็นผู้ประเมินว่า ผู้ป่วยสมควรเข้ารับการฉีดวัคซีนภูมิแพ้หรือไม่

วิธีการฉีดวัคซีนภูมิแพ้
จะแบ่งเป็น 2 ระยะ

  • ระยะปรับเพิ่มขนาด ในระยะ 5 – 6 เดือนแรก จะฉีดสัปดาห์ละครั้ง โดยฉีดที่แขนสลับข้างกันและค่อยๆ เพิ่มปริมาณของวัคซีนทีละน้อย จนได้ขนาดสูงสุดเท่าที่ผู้ป่วยจะรับได้ แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มระยะห่างของการฉีดวัคซีนออกไปเป็นทุกๆ 2 และ 3 สัปดาห์ จนถึงฉีดเพียงเดือนละครั้ง

  • ระยะคงที่ จะฉีดวัคซีนภูมิแพ้เพียงเดือนละครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้นคงอยู่ต่อเนื่อง ควรฉีดเดือนละครั้งไปนาน 3 – 5 ปี

** แนะนำให้ฉีดต่อเนื่องทุก 4 สัปดาห์ นาน 3-5 ปี เพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุด


ข้อดีของการฉีดวัคซีนภูมิแพ้

  • เป็นการรักษาที่ตรงจุดคือ แก้ไขที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

  • หากตอบสนองต่อวัคซีนและฉีดอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้อาการภูมิแพ้ดีขึ้น (3-6 เดือน)

  • ลดการใช้ยา

  • ลดการเกิดโรคหืดในรายที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้

  • ลดการแพ้สารอื่น ๆ เพิ่ม ในอนาคต

  • หากฉีดนาน 3-5 ปี มีข้อมูลว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการภูมิแพ้ไปได้อีกหลายปี


ผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนภูมิแพ้

  • อาการแบบเฉพาะที่ เช่น บวม แดง บริเวณที่ฉีด ซึ่งจะดีขึ้นได้เอง

  • อาจทำให้เกิดอาการแพ้ทั่วร่างกายเกิดได้น้อยกว่า 1% เช่น ลมพิษ ปวดท้อง อาเจียน หายใจลำบาก ดังนั้นทุกครั้งที่ฉีด แพทย์จะสังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาที ก่อนกลับบ้าน

  • อาจเกิดอาการของโรคภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่แล้วมากขึ้นในช่วงแรก เช่น คัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล


ข้อปฏิบัติที่สำคัญหลังการฉีดวัคซีน

  • ต้องสังเกตอาการใน รพ. ทุกครั้ง อย่างน้อย 30 นาที

  • ห้ามออกกำลังกาย หรือทำงานหนัก เช่น เล่นกีฬา ฯลฯ หลังฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

  • หลังฉีด 24 ชั่วโมง ให้สังเกตอาการบวม หรือผื่นแดงบริเวณที่ฉีด ควรรายงานแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนครั้งถัดไป เพื่อปรับขนาดวัคซีนให้พอเหมาะ

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เพิ่มเพื่อน

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พญ. ภัทรา ตันติเจริญวิวัฒน์
ความชำนาญ : โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน