PM 2.5 กับโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ

12 พฤษภาคม 2563

แพทย์หญิง นันทนัช หรูตระกูล

 

ปัจจุบันทุกคนคงตระหนักและทราบกันดีว่า มลพิษทางอากาศส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง มลพิษที่มีบทบาทสำคัญในขณะนี้ คือ PM ย่อมาจาก particular matter เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ จากควันรถยนต์ การเผาไหม้ต่าง ๆ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ในช่วงที่อุณหภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเร็ว ความชื้นสูง โดยเฉพาะสถานที่ที่มีตึกสูงจำนวนมาก ทำให้การไหลถ่ายเทของอากาศไม่ดี ยิ่งทำให้ฝุ่น PM ฟุ้งออกไปได้ยาก
โดย PM แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด

 

  • Coarse PM = PM 10 มีขนาด 5-10 ไมครอน อนุภาคเหล่านี้จะเข้าไปที่หลอดลม

  • Fine PM = PM 2.5 มีขนาด 1-2.5 ไมครอน อนุภาคเหล่านี้จะเข้าไปที่หลอดลมฝอย และถุงลม

  • Ultrafine PM = PM 0.1 มีขนาด ไม่เกิน 1 ไมครอน อนุภาคเหล่านี้จะเข้าไปในเซลล์ได้โดยตรง


ซึ่งขณะนี้มลพิษตัวจิ๋วกำลังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่สำคัญทั่วโลก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 4 ล้านคนในปีค.ศ. 2015 ซึ่งมากขึ้นถึง 7.8% เมื่อเทียบกับปีคศ. 2005
สำหรับโรคระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยคือ

  • โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และโรคหอบหืด สาเหตุเกิดจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง PM เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดการอักเสบในทางเดินหายใจ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคดังกล่าว หรือทำให้อาการแย่ลง

  • สำหรับสตรีตั้งครรภ์ จะส่งผลต่อทารกในครรภ์มารดา เนื่องจากทารกมีการเจริญเติบโตและอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอดและสมอง การได้รับมลพิษในช่วงนี้อาจส่งผลระยะยาวต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงมลพิษเป็นพิเศษโดยเฉพาะหญิงที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 6 เดือน

 

ดังนั้นการป้องกัน PM ที่ดีคือควรสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นพิษขนาดเล็ก รวมทั้งหากมีโรคภูมิแพ้หรือมีอาการที่สงสัย ควรปรึกษาแพทย์ และติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
วิธีการป้องกันฝุ่น PM

  • งดกิจกรรมกลางแจ้ง

  • ใส่อุปกรณ์ป้องกัน

  • ติดตามการเฝ้าระวังดัชนีคุณภาพอากาศ และหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับอันตราย

 

ระดับคุณภาพอากาศในอาคารที่เหมาะสม คือ

  • ระดับ AQI < 50 หรือ PM 2.5 < 37 มคก./ลบ. ม.


เมื่อระดับคุณภาพอากาศภายนอกเกินเกณฑ์มาตรฐานควรปฏิบัติดังนี้

  • ควรปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ระวังอย่าให้ ห้องร้อนเกินไป

  • ไม่สูบบุหรี่ หรือจุดธูปในอาคาร

  • ถูพื้นโดยใช้ผ้าเปียก เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง

  • ใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่สามารถกำจัด PM 2.5 ได้

  • ไม่ควรใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่มีการผลิตโอโซน เพราะโอโซนในปริมาณมากเป็นมลพิษอย่างหนึ่ง


* ที่มา: ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, สมาคมโรคระหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็ก, สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เพิ่มเพื่อน

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พญ. นันทนัช หรูตระกูล
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยา