“โรคหอบหืด” น่ากลัวแค่ไหน และจะรักษาได้อย่างไร?

12 พฤษภาคม 2563

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ปกิต วิชยานนท์


โรคหอบหืดต่างจากโรคหืดอย่างไร ?
“การหอบ” เป็นอาการที่คนไข้แสดงออกเมื่อหายใจลำบาก อาจจะเป็นการหายใจเร็ว แรง และ ลึก แต่ “หอบหืด” เป็นโรคของหลอดลมขนาดกลางและเล็กที่มีการเกร็งตัวและตีบตันทำให้ใจออกได้ลำบาก และในที่สุดก็จะทำให้หายใจเข้าได้ลำบากเช่นกัน แพทย์บางท่านเรียกโรคนี้ว่า “โรคหืด”

“โรคหืด” พบได้มากน้อยเท่าไรในประเทศไทย? พบบ่อยในผู้ป่วยในอายุเท่าไหร่และถ้าเป็นแล้วไม่รักษาจะถึงขั้นเสียชีวิตไหม?
โรคหืดเป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก ประมาณการว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคนี้อยู่ทั่วโลกประมาณ 300 ล้านคน โดยในประเทศไทยได้มีการสำรวจความชุกของโรคนี้ในเด็ก และพบว่ามีถึงร้อยละ 10 ซึ่งโรคหืดพบได้บ่อยมากที่สุดในเด็กอายุราว 2-5 ปี แต่พบได้ในผู้ป่วยทุกอายุ ตั้งแต่ในระยะทารก จนไปถึงผู้ใหญ่ได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ด้วยการรักษาที่ถูกต้อง อาจจะทำให้มีอาการมากขึ้นและถึงขั้นเสียชีวิตได้
กลไกของการเกิดโรคหืด ได้แก่
  • พันธุกรรม
  • ความไวของหลอดลม
  • สิ่งกระตุ้น
  • สารก่อภูมิแพ้
  • การติดเชื้อและการออกกำลังกาย

โรคหืดเป็นโรคที่หลอดลมขนาดกลางและขนาดเล็กมีการอักเสบจากสิ่งกระตุ้น เช่น จากสารแพ้ การติดเชื้อหวัด การออกกำลังกายที่หักโหม ทำให้หลอดลมของผู้ป่วยซึ่งมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นเหล่านี้อยู่แล้วมากกว่าคนปกติ เกิดการอักเสบและมีการหดตัวของกล้ามเนื้อรอบๆ หลอดลม ผลที่ตามมาคือ หลอดลมจะตีบตัวลง ซึ่งเชื่อกันว่าโรคหืดเป็นโรคทางพันธุกรรม แต่กลไกในการส่งต่อพันธุกรรมยังไม่ทราบแน่นอน ความผิดปกติทางพันธุกรรมเหล่านี้ ทำให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น และมีแนวโน้มที่จะเกิดการแพ้ต่อสารแพ้ เช่น ไรฝุ่นได้มากกว่าคนปกติ

อาการของโรคหืดเป็นอย่างไร ?
ในระยะแรกผู้ป่วยจะหายใจออกลำบากและไอ ถ้าเป็นมากๆ จะหายใจลำบากทั้งในตอนหายใจเข้าและหายใจออก โดยจะมีเสียงวี้ดเหมือนนกหวีดโดยเฉพาะในตอนหายใจออก และการหายใจอาจจะเร็วขึ้นหรือช้าลง หน้าอกบุ๋ม เพราะต้องใช้ความพยายามในการหายใจเข้าและออกมากขึ้น

การวินิจฉัยโรคหืดทำได้อย่างไร?
ในผู้ป่วยที่เวลาเป็นหวัด จะได้ยินเสียงวี๊ดในตอนหายใจออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจว่าเป็นโรคหืดหรือไม่ โดยผู้ป่วยมักไอบ่อยๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน การตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่าเป็นโรคหืดทำได้ไม่ยาก จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย แพทย์อาจทำการตรวจต่อไปด้วยการวัดการทำงานของปอดและหลอดลม เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน

การรักษาโรคหืด การใช้ยา การเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
การรักษาโรคหืดทำได้ไม่ยากนัก เพราะในปัจจุบันมียาที่รักษาโรคที่ดี และใช้ได้ง่าย ยาในการรักษาโรคหืดมักเป็นยาชนิดสูดดม ที่ใช้สูดเข้าสู่ปอดและหลอดลมโดยตรง ยาโรคหืดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

  • ยาบรรเทา (หรือเรียกว่ายาขยายหลอดลม)
  • ยาควบคุมโรค (ยาลดการอักเสบ)

ในปัจจุบันมียาที่รวมยาทั้ง 2 ประเภทนี้อยู่ในหลอดเดียวกัน เลยทำให้ใช้ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคหืดมักจะพบว่า แพ้สารแพ้ทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งไรฝุ่นเป็นสารแพ้ที่แพ้ได้มากที่สุด ผู้ป่วยจึงควรขจัดสารแพ้จากไรฝุ่นออกจากที่นอน และ หมอนด้วย

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เพิ่มเพื่อน

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
ศ.เกียรติคุณ นพ. ปกิต วิชยานนท์
ความชำนาญ : ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช