ตรวจสุขภาพการนอนหลับ (แบบนอนที่บ้าน)

01 กรกฎาคม 2564


อาการกรน เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในคนทั่วไป หลายท่านอาจคิดว่าเป็นเรื่องปกติหรือน่าขัน แต่อาการกรนอาจมาพร้อมกับภัยร้ายนั่นคือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา ?
  • ระยะสั้น : การหยุดหายใจเป็นช่วงๆขณะนอนหลับ ทำให้ร่างกายเกิดการตื่นตัวเรื่อย ๆ ขณะนอนหลับ ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ หลับไม่ลึก เกิดความง่วงระหว่างวัน ความจำไม่ดี สมองไม่ปลอดโปร่ง หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ปวดหัวช่วงเช้า
  • ระยะยาว : เมื่อมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ จะทำให้หัวใจและปอดทำงานหนักขึ้น มีภาวะความดันโลหิตสูงได้ในอนาคต หรือควบคุมความดันโลหิตได้ยากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น 

เมื่อไหร่ถึงควรสงสัยว่าคุณกำลังเสี่ยงกับโรคนี้ ?
เรามักสงสัยภาวะนี้ในคนที่มีปัจจัยเสี่ยง หรืออาการสำคัญ ได้แก่ (รวมกันอย่างน้อย 3 ข้อขึ้นไป)

  • มีอาการกรนดัง
  • มีความง่วงในระหว่างวัน ต้องผล็อยหลับบ่อยๆ ถึงแม้มีชม.การนอนที่เพียงพอ 7-8 ชม.
  • มีคนเห็นว่ามีหยุดหายใจเป็นช่วงๆขณะหลับ
  • มีภาวะความดันโลหิตสูง
  • มีภาวะอ้วน
  • อายุมากกว่า 50 ปี
  • ความยาวเส้นรอบคอ มากกว่า 40 ซม.
  • เพศชาย

การวินิจฉัยโรค
ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยภาวะนี้ ใช้เครื่องมือที่เป็นมาตรฐานและมีความแม่นยำสูง คือ "การตรวจการนอนหลับ" หรือ sleep test

  • ปัจจุบันมีหลายประเภท ได้แก่ การตรวจการนอนหลับเต็มรูปแบบ (ค้างคืนที่รพ.) หรือ การตรวจการตรวจการนอนหลับโดยมีอุปกรณ์ไปติดที่บ้าน (Home sleep apnea test)
  • โดยจะเป็นการตรวจเพื่อวิเคราะห์คุณภาพการนอนหลับอย่างละเอียด ได้แก่ ระดับความลึก-ตื้นของการหลับ ระบบการหายใจขณะนอนหลับ การตื่นตัวของสมอง และการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติขณะหลับ เพื่อยืนยันว่ามีการหายใจที่ผิดปกติขณะนอนหลับจริงหรือไม่
  • วินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เมื่อตรวจพบ ค่า "ดัชนีการหยุดหายใจและหายใจแผ่ว" (Apnea-hypopnea index) มีจำนวนมากกว่าหรือเท่ากับ 5 ครั้งต่อชม.


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : แผนกหู คอ จมูก รพ.สมิติเวช ธนบุรี
โทร. 02-408-0113

 

เพิ่มเพื่อน