แพ้เมนูนี้เพราะอะไร...รู้ได้ด้วยการ ทดสอบการแพ้อาการ

20 เมษายน 2566

แพทย์หญิง จุฬามณี วงศ์ธีระญาณี


                     ​หลายคนกำลังสงสัยว่าเรามีการแพ้อาหารจริงหรือไม่ หรือมักตั้งคำถามว่าที่เราเคยแพ้อาหารนั้นเราหายดีแล้วหรือยัง บางท่านยังเกิดความลังเล หวาดกลัวที่จะรับประทานอาหารชนิดนั้น ความสงสัยนี้อาจจะทำให้ต้องงดอาหารชนิดนั้นโดยไม่มีความจำเป็น ดังนั้นวันนี้เราพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับการทดสอบการแพ้อาหารโดยการรับประทาน (OFC) Oral Food Challenge ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจในการรับประทานอาหารนั้นได้หรือรู้ผลว่ายังแพ้คงต้องหลีกเลี่ยงต่อไป

                    การทดสอบการแพ้อาหารโดยการรับประทาน (Oral Food Challenge: OFC) คือ การทดสอบการแพ้อาหารโดยการให้รับประทานอาหารที่สงสัยโดยค่อยๆ เพิ่มทีละน้อย และติดตามอาการภายใต้การดูแลของแพทย์ การเพิ่มปริมาณอาหารจะค่อยๆ เพิ่มทุก 15-30 นาที จนกระทั่งถึงปริมาณที่เหมาะสมสำหรับผู้ทดสอบ หากมีการแพ้เกิดขึ้นจะหยุดการทดสอบทันที โดยแพทย์จะทำการ วินิจฉัยและให้การรักษาในลำดับต่อไป หากผลการทดสอบผ่านนั่นหมายถึง ผู้เข้ารับการทดสอบสามารถรับประทานอาหารชนิดนั้นได้ โดยแพทย์จะแนะนำให้รับประทานอาหารชนิดนั้นอย่างต่อเนื่องที่บ้านภายหลังการทดสอบ แต้ถ้าผลทดสอบพบว่าแพ้ แพทย์จะแนะนำให้งดอาหารชนิดนั้นต่อ สำหรับระยะเวลาในการทดสอบและสังเกตอาการจะอยู่ภายในเวลา 2-4 ชั่วโมง ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรงอาจใช้ระยะเวลานานกว่าปกติเพื่อติดตามอาการ

 

วิธีการทดสอบการแพ้อาหาร สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

  • วิธีการทดสอบการแพ้แบบ Open blind  คือ  ผู้เข้ารับการทดสอบ และแพทย์ผู้ดูแลทราบชนิดอาหารที่จะทำการทดสอบว่าเป็นอาหารอะไร  ซึ่งวิธีนี้เป็นการทดสอบการแพ้อาหารที่ใช้บ่อย และสะดวกในการทดสอบ

  • วิธีการทดสอบการแพ้แบบ Single blind คือ ผู้เข้ารับการทดสอบไม่ทราบว่าใช้อาหารอะไรมาทดสอบ มีเพียงแพทย์ หรือผู้ดูแลการทดสอบเท่านั้นที่ทราบ

  • วิธีการทดสอบการแพ้แบบ Double blind คือ ผู้เข้ารับการทดสอบและแพทย์หรือผู้ดูแลไม่ทราบว่าวันใดคืออาหารจริง (มีอาหารที่ต้องการทดสอบซ่อนไว้) วันใดคืออาหารหลอก (ไม่มีอาหารที่ต้องการทดสอบในนั้น) เพื่อลดอคติในการทดสอบ ใช้เวลาทำการทดสอบ 2 วัน โดยจะมีการเตรียมโดยผู้เตรียมอาหารหรือนักโภชนาการให้มีลักษณะรูป รส กลิ่น สี ที่เหมือนกันทั้ง 2 วัน เพื่อลดความกลัวในการรับประทานอาหารที่สงสัย วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้มาตรฐานที่สุด เมื่อเสร็จสิ้นการทดสอบจะมีการเปิดเผย Code โดยผู้เตรียมอาหาร วิธีนี้มักใช้ในการวิจัย หรือ กรณีที่ผู้ป่วยมีความกลัวในการรับประทานอาหารที่สงสัย และในกรณีที่ผู้ป่วยจะทำการรักษาแพ้อาหารต่อด้วยวิธี Oral immunotherapy

การเตรียมตัวก่อนมาทดสอบการแพ้อาหาร

  • ผู้เข้ารับการทดสอบต้องไม่มีอาการเจ็บป่วย ก่อนภายใน 7 วัน ก่อนวันเข้ารับการทดสอบ

  • ควรงดยาแก้แพ้ (Antihistamine) ก่อนเข้ารับการทดสอบ อย่างน้อย 1 สัปดาห์  แต่สามารถใช้ยาพ่นจมูกที่มีสเตียรอยด์ ยาต้านลิวโคไทรอีน (Leukotriene antagonist) ยาสูดที่ควบคุมอาการหืดชนิดสเตียรอยด์

  • หากเจ็บป่วย หรือมีความจำเป็นต้องใช้ยาพ่นหอบฉุกเฉิน (ฺBeta 2 agonist) ยาแก้แพ้ (Antihistamine) ยาอะดรีนาลิน (Adrenaline ) เพื่อรักษาอาการแพ้ หรือโรคประจำตัว แนะนำให้เลื่อนการทดสอบการแพ้อาหารออกไปก่อน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช รพ.สมิติเวช ธนบุรี
โทร : 02-408-0111

เพิ่มเพื่อน

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พญ. จุฬามณี วงศ์ธีระญาณี
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน