การแก้ไขสายตาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม (Refractive Lens Exchange : RLE)

14 กุมภาพันธ์ 2567

แพทย์หญิง ไรนา จินดาศักดิ์

บทความโดย : แพทย์หญิงไรนา จินดาศักดิ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตาและการแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์

การแก้ไขสายตาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม  (Refractive Lens Exchange : RLE)

     " RLE "   เป็นการผ่าตัดแก้ไขสายตาที่ใช้บ่อยในกลุ่มคนที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไปที่มีภาวะสายตาผิดปกติ เช่นสายตาสั้น สายตายาว (สายตายาวแต่กำเนิด และสายตายาวตามอายุ) และสายตาเอียง โดยเฉพาะภาวะสายตาที่ยาวมาก หรือสายตายาวตามอายุ จะเป็นวิธีแก้ไขสายตาที่ได้ผลดีมาก ซึ่งการแก้ไขสายตาโดยการใช้เลเซอร์ เช่น LASIK PRK หรือ RELEX-SMILE แก้ไขได้ไม่ดี

    " RLE"  เป็นการผ่าตัดที่เหมือนกับการผ่าตัดต้อกระจกทุกประการ แต่เราจะเรียกว่า RLE เมื่อใช้รักษากลุ่มคนที่ยังไม่มีภาวะต้อกระจก และมุ่งแก้ปัญหาสายตาที่มีเป็นหลัก จุดประสงค์ของการผ่าตัดวิธีนี้คือ ลดปัญหาค่าสายตาที่คนไข้มีเพื่อลดโอกาสการใช้แว่นหรือคอนแทคเลนส์แก้ไขสายตา โดยการผ่าตัดทำโดยการดูดสลายเอาเนื้อเลนส์แก้วตาธรรมชาติออกแล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมที่แก้ค่าสายตาที่มี เข้าไปแทนที่



ชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมที่ใช้ใน RLE

1. Monofocal Lenses :  เลนส์โฟกัส 1 ระยะ

       โดยเลนส์ชนิดนี้จะคำนวณเพื่อให้มองเห็นชัดระยะเดียว โดยส่วนใหญ่จะคำนวณเพื่อให้โฟกัสระยะไกลชัด หากใส่เลนส์ชนิดนี้โดยให้โฟกัสระยะไกลชัดทั้งสองตา หลังผ่าตัดจะสามารถมองไกลได้โดยส่วนใหญ่ไม่ต้องสวมใส่แว่นตา ถ้ามองใกล้ต้องสวมใส่แว่นตาจึงจะมองได้ชัด

       เราสามารถใส่เลนส์โฟกัส1ระยะแบบเทคนิคการใส่แบบ monovision โดยใส่เลนส์ที่โฟกัสชัดระยะไกลที่ตาข้างที่เป็นตาเด่น และใส่เลนส์ที่โฟกัสระยะใกล้ในตาข้างที่เป็นตารอง การใส่วิธีนี้จะทำให้สามารถมองเห็นได้ทั้งไกลและใกล้ในคนที่สามารถปรับตัวได้ ก่อนใช้วิธีนี้แพทย์จะต้องทดสอบก่อนว่าสามารถมองเห็นได้ดีหรือไม่เมื่อมองสองตาในระยะไกลและระยะใกล้

2.  Multifocal Lenses : เลนส์โฟกัสหลายระยะ

      เลนส์ชนิดนี้ออกแบบมาให้มองเห็นได้หลายระยะโดยทำให้เลนส์มีจุดโฟกัสหลายจุดทั้งไกลและใกล้ ทำให้สามารถมองเห็นโดยทั่วไปได้ดี ลดโอกาสการสวมใส่แว่นตาเสริม อย่างไรก็ตามอาจมีบางรายที่ต้องใส่แว่นตาเสริมเพื่ออ่านหนังสือหรือทำงานในระยะใกล้ ถ้าต้องมองนานๆ มองตัวอักษรหรือภาพที่มีรายละเอียดเล็กๆ แต่โดยส่วนใหญ่80-90%ของผู้ที่ใส่เลนส์ชนิดนี้เป็นอิสระจากการสวมใส่แว่นตา สามารถใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน อ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์ ขับรถ ได้เป็นปกติ

      เลนส์โฟกัสหลายระยะ ชนิด โฟกัสสามระยะ (Trifocal Lenses) หรือ ชนิดโฟกัสยืดหลายระยะ (EDOF Lenses) เป็นเลนส์เทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน โดยเลนส์ทั้งสองสามารถมองเห็นระยะใกล้ กลาง ไกล ได้ แต่เลนส์ trifocus สามารถมองเห็นใกล้ได้คมชัดกว่าเลนส์ EDOF แต่จะมีแสงวงรบกวนกลางคืนมากกว่าเลนส์ EDOF ซึ่งการเลือกชนิดของเลนส์ให้เหมาะกับแต่ละบุคคลนั้นควรปรึกษาจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

      การทำงานของเลนส์โฟกัสหลายระยะจะไม่เหมือนกับการมองโดยแว่นสองชั้น หรือแว่นโปรเกสซีฟ (progressive) เมื่อเรามองในจุดต่างๆเราจะมองเห็นได้เหมือนปกติโดยการเรียนรู้ของสมองให้มองเห็นจุดโฟกัสที่ต้องการได้อัตโนมัติ สมองเราจะค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัว ระยะห่างที่เหมาะสม ของการใช้งานในระยะใกล้เช่นอ่านหนังสือ หรือใช้มือถือ และระยะกลางเช่นการใช้คอมพิวเตอร์ การทำอาหารได้ดีขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป 3-6 เดือน

ผลข้างเคียงของเลนส์โฟกัสหลายระยะ

     ผลเข้างเคียงที่ผลได้บ่อยคือ การเห็นแสงวง (halo) เห็นเป็นวงแหวน (ring) แสงกระจาย (glare) หรือแสงเป็นแฉก (starburst) รอบๆดวงไฟในเวลากลางคืน โดยเฉพาะเวลาขับรถในเวลากลางคืน แต่การเกิดแสงรบกวนหลังผ่าตัดนี้มักจะมีน้อยกว่าแสงรบกวนที่เกิดจากภาวะสายตาสั้น เอียงหรือยาว หรือแสงรบกวนที่เกิดจากต้อกระจก เมื่อเวลาผ่านไป 3-6เดือน สมองคนเราจะค่อยๆปรับตัวให้มองเห็นแสงรบกวนนี้น้อยลงเรื่อยๆ แต่จะไม่หายไปทั้งหมด จะหลงเหลือแสงรบกวนส่วนนึง คนไข้ส่วนใหญ่ 90-95% สามารถปรับตัวจนแสงรบกวนนั้นไม่เกิดปัญหากับการใช้ชีวิตประจำวันและการขับรถในเวลากลางคืน แต่ก็มีคนไข้ส่วนน้อย 2-5% ที่เห็นแสงรบกวนจนไม่สามารถทนได้

     อีกข้อจำกัดของเลนส์โฟกัสหลายระยะคือ เมื่อแสงสลัว หรือแสงสว่างไม่เพียงพอจะทำให้การมองเห็นลดลง ดังนั้นอ่านหนังสือหรือทำงานที่ต้องเห็นรายละเอียดที่ชัดเจนต้องมีแสงสว่างที่เพียงพอ การขับรถในที่มืดอาจทำให้มองเห็นวัตถุข้างทางลำบากต้องใช้ความระมัดระวัง

     การใส่เลนส์แก้วตาเทียมไม่เหมือนกับการตัดแว่นสายตาเนื่องจากเราไม่สามารถลองใส่ได้ก่อนผ่าตัด และถ้าไม่ชัดเราไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้ แต่อย่างไรก็ตามเครื่องมือที่ใช้วัด และสูตรในการคำนวณเบอร์เลนส์แก้วตาเทียมที่เราจะใส่นั้น เป็นเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีใหม่และสูตรคำนวณมีความแม่นยำสูงมากในปัจจุบัน ทำให้ค่าสายตาที่ได้หลังผ่าตัดค่อนข้างแม่นยำเกิน90% แต่ไม่สามารถแม่นยำ100%ได้ ดังนั้นหากการมองเห็นหลังทำผ่าตัดไม่เป็นที่พอใจ อาจต้องมีการใส่แว่นสายตาเสริมค่าสายตาได้

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด

     การทำผ่าตัด RLE เป็นวิธีการเดียวกันกับการผ่าตัดต้อกระจกทุกประการ ดังนั้นความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจึงเหมือนกับการผ่าตัดต้อกระจก ถ้าเปรียบเทียบกับการแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์เช่น LASIK จะมีความเสี่ยงมากกว่าเนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่อยู่ในลูกตา

     อย่างไรก็ตามความสำเร็จของการผ่าตัดมีมากกว่า95-98% และความเสี่ยงที่รุนแรงที่ส่งผลทำให้มีการสูญเสียการมองเห็นพบได้น้อยมาก และภาวะแทรกซ้อนส่วนใหญ่สามารถแก้ไขรักษาได้ ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดได้มีดังนี้

1. จอประสาทตาหลุดลอก มีโอกาสเกิดได้มากขึ้นในกลุ่มคนที่มีค่าสายตาสั้นมาก อัตราการเกิดเฉลี่ยประมาณ 0.68%
2. การติดเชื้อในลูกตา อัตราการเกิดเฉลี่ยประมาณ <0.01%
3. เลือดออกในลูกตา หรือ เลือดออกใต้ชั้นจอประสาทตา
4. เลนส์ตาเลื่อนตำแหน่ง
5. ความดันในลูกตาสูง อาจส่งผลทำให้เกิดต้อหินในระยะยาว
6. จอประสาทตาจุดรับภาพชัดบวมหลังผ่าตัด
7. ถุงหุ้มเลนส์หย่อน ถุงหุ้มเลนส์ฉีกขาด อาจส่งผลทำให้ต้องใส่เลนส์โฟกัสระยะเดียวเท่านั้น
8. กระจกตาบวม ส่วนใหญ่เป็นแบบชั่วคราวหลังผ่าตัด 1-2 สัปดาห์ ส่วนน้อยมากที่อาจเกิดการบวมแบบถาวร
9.อาการตาแห้งชั่วคราวหลังผ่าตัด

การดูแลหลังทำผ่าตัด
            ส่วนใหญ่สามารถมองเห็นได้ปกติที่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ประมาณ1-2สัปดาห์ แนะนำให้หยุดพักงาน พักสายตาอย่างน้อยๆประมาณ 3-5 วัน ก็สามารถกลับไปทำงานเบาๆที่ไม่ต้องออกแรงและไม่อยู่ในสถานที่ที่ฝุ่นควันเยอะ สามารถกลับไปใช้คอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือได้ใน 3-5 วันหลังผ่าตัด

1. ห้ามน้ำเข้าตา 3-4 สัปดาห์
2. ระวังเหงื่อไคล ฝุ่นควัน เข้าตา 3-4 สัปดาห์
3. ห้ามนอนตะแคงประมาณ2สัปดาห์
4. งดก้มทำงาน ก้มยกของ หรือยกของหนักๆ เป็นเวลา3-4 สัปดาห์
5. ห้ามขยี้ตารุนแรง หรือกดนวดเบ้าตาหลังทำผ่าตัด
6. งดออกกำลังกาย ประมาณ 3-4 สัปดาห์ สามารถเดินเบาๆ ออกแรงเบาๆได้หลัง2สัปดาห์
7. หยอดยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
 8. ใส่แว่นกันแดดเวลาออกกลางแจ้งในช่วง1-3เดือนแรก เพื่อลดภาวะแสงจ้ารบกวน
 9. ครอบตาตอนนอน 3-4 สัปดาห์

 

​สอบถามเพิ่มเติม  / นัดหมายพบแพทย์

เพิ่มเพื่อน

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พญ. ไรนา จินดาศักดิ์
ความชำนาญ : กระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา