ท้องผูกในเด็ก ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

22 มกราคม 2567

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เสกสิต โอสถากุล

    อาการท้องผูก หมายถึง การขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมกับอาการถ่ายอุจจาระแข็ง ต้องออกแรงเบ่งอย่างมาก มีอาการเจ็บปวด เพราะบางครั้งอุจจาระแข็งก้อนใหญ่ จะถ่างรูทวารหนักจนฉีกขาดเป็นแผล มีเลือดออกเคลือบบนผิวอุจจาระ แผลดังกล่าวทำให้เด็กเกิดอาการเจ็บจนมีพฤติกรรมกลั้น ไม่กล้าถ่ายอุจจาระ

    ท้องผูกในเด็ก ฟังดูแล้วอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่ว่า ปัญหานี้อาจส่งผลกระทบอย่างมากกับ ผู้ป่วย ซึ่งผลกระทบที่ว่าจะเป็นอย่างไรนั้น วันนี้หมอจะมาอธิบายให้ฟังกันครับ
อาการท้องผูกเกิดได้อย่างไร?
    อาการท้องผูกในเด็กส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 95 ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของลำไส้หรือสาเหตุอื่นใด แต่เกิดจากปัจจัยสภาพแวดล้อม เช่น ท้องผูกในเด็กเล็กมักเกิดจากการให้ดื่มนมมากเกินไป และขาดการบริโภคอาหารที่มีกากใย   หรือในเด็กวัยเรียนเกิดจากพฤติกรรมกลั้นอุจจาระจนเคยชิน เพราะต้องรีบไปโรงเรียนแต่เช้า จนไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำที่บ้าน หรือรังเกียจห้องน้ำที่โรงเรียน หรืออาจกลั้นอุจจาระเพราะห่วงเล่น

อาการท้องผูกในเด็กที่พ่อแม่ควรหมั่นสังเกต ได้แก่
    • ถ่ายอุจจาระน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้งต่อสัปดาห์
    • อุจจาระแข็ง แห้ง หรือเหนียว
    • อุจจาระก้อนใหญ่มากจน อุดตันชักโครก
    • ถ่ายอุจจาระลำบาก ต้องใช้แรงเบ่งมาก
    • รู้สึกเจ็บปวดขณะถ่ายอุจจาระ ในเด็กเล็กแสดงออกโดย ร้องไห้ ยืนเบ่ง ขมิบก้น ไม่กล้านั่งถ่าย

ผลกระทบจากท้องผูก ที่พ่อแม่อาจไม่ทราบมาก่อน
แม้ว่าอาการท้องผูกไม่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง  แต่จะมีผลกระทบต่อเด็ก และผู้ปกครอง คือ
1. เด็กมีพฤติกรรมกลัวการถ่ายอุจจาระ เพราะเคยมีประสบการณ์เจ็บแผลทวารหนักระหว่างถ่ายอุจจาระแข็ง ก้อนใหญ่ ดังนั้นจึงพยายามกลั้นอุจจาระ ไม่กล้านั่งถ่ายแต่จะยืน ขมิบก้น ร้องไห้กลัว พฤติกรรมนี้พบได้ในเด็กเล็กที่ท้องผูกเรื้อรัง การกลั้นอุจจาระ ยิ่งทำให้อุจจาระสะสมก้อนใหญ่ขึ้น ทำให้เด็กยิ่งถ่ายลำบากมากขึ้นและเจ็บ เกิดเป็นปัญหาวนเวียน สร้างความไม่สบายใจแก่ผู้ปกครองอย่างมากทุกครั้งที่เห็นลูกถ่ายอุจจาระไม่ออก 
2. ปวดท้อง เบื่ออาหาร น้ำหนักไม่เพิ่ม เพราะอุจจาระสะสมในลำไส้ทำให้แน่นท้อง อึดอัด ไม่อยากรับประทานอาหาร
3. เกิดอาการอุจจาระเล็ดติดกางเกง วันละหลายครั้งคล้ายท้องเสีย ซึ่งพบในเด็กวัยเรียนที่ท้องผูกเรื้อรังมานาน เมื่ออุจจาระสะสมมากจนเต็มลำไส้ และไหลล้นออกมาโดยไม่รู้สึกปวดอุจจาระ ปัญหานี้ทำให้เด็กถูกเพื่อนล้อเลียนและรังเกียจจากกลิ่นอุจจาระ จึงไม่กล้าเข้ากลุ่มกับเพื่อน และอาจนำไปสู่ปัญหาทางจิตใจแก่ผู้ป่วยได้

รักษาท้องผูกในเด็กอย่างไร?  
เด็กท้องผูกที่ไม่มีสาเหตุจากโรคทางกาย รักษาโดย
1. แก้ไขปัจจัยแวดล้อมที่เป็นปัญหา ได้แก่ 
    • ลดการบริโภคนม และรับประทานข้าวให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มผัก ผลไม้ ในอาหาร
    • ฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เป็นเวลา โดยให้ฝึกนั่งถ่ายใช้เวลาประมาณ 5 นาทีทุกวันหลังกินอาหารมื้อเช้า หรือมื้อค่ำ
2. รับประทานยาระบาย เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่ม ถ่ายง่าย ไม่เจ็บปวด ควรรับประทานยาเป็นเวลานานตราบจนพฤติกรรมกลั้นอุจจาระเพราะกลัวเจ็บหายไป จึงหยุดยา ในเด็กเล็กไม่ควรรักษาโดยใช้ยาสวนทวาร เพราะจะทำให้เจ็บ เด็กจะไม่ชอบ และยิ่งเพิ่มความกลัวและกลั้นอุจจาระมากขึ้น

คำแนะนำสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง
1. หากลูกเริ่มมีอาการท้องผูก ควรรีบรักษาให้หายแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าปล่อยไว้นานจนเป็นท้องผูกเรื้อรัง จะรักษายากขึ้น  
2. ยาระบายที่ใช้ทั่วไปในเด็กท้องผูก เป็นยาระบายอย่างอ่อน ออกฤทธิ์โดยเพิ่มปริมาณน้ำ
ในลำไส้ ทำให้อุจจาระนิ่ม ไม่มีผลโดยตรงต่อลำไส้ สามารถให้กินติดต่อกันเป็นเวลานานหลายเดือน โดยไม่เกิดผลข้างเคียงร้ายแรง  และไม่ติดยาระบายหลังหยุดยา
3. การป้องกันการเกิดท้องผูก
    • ส่งเสริมให้ลูกดื่มน้ำอย่างเพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำ
    • ไม่ควรให้ลูกกินนมมากเกิน 30 ออนซ์ต่อวัน และควรรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ต่างๆ 
    • เริ่มฝึกให้ลูกนั่งถ่ายอุจจาระตั้งแต่อายุ 1 ปีครึ่ง โดยไม่ฝึกอย่างเข้มงวด
    • ผู้ปกครองควรให้ความสนใจต่อการถ่ายอุจจาระของลูกอย่างสม่ำเสมอ


 
  เพิ่มเพื่อน  

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
ศ.เกียรติคุณ นพ. เสกสิต โอสถากุล
ความชำนาญ : กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและโรคตับ