การใส่เลนส์เสริมสายตา ICL (Implantable collamer lens)

01 พฤศจิกายน 2566

แพทย์หญิง ไรนา จินดาศักดิ์

การใส่เลนส์เสริมสายตา : ICL (Implantable collamer lens)

            เป็นเทคโนโลยีการแก้ปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง แบบถาวร ที่ช่วยให้ภาพที่มองเห็นหลังใส่เลนส์เสริมมีความคมชัดขึ้น ICLได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา เป็นเลนส์ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลก ICLผลิดจากวัสดุ collamer ประกอบด้วย colllagenและ polymer ทำให้เลนส์มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถเข้ากับร่างกายได้โดยไม่เกิดการต่อต้านจากเซลล์ภายในร่างกาย (biocompatibility) มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเลนส์ตาธรรมชาติ ช่วยให้การสะท้อนแสงและการหักเหแสงเป็นไปได้อย่างเป็นธรรมชาติ และมี UV blocker ป้องกันรังสี UVA และ UVB ที่จะทำอันตรายต่อจอประสาทตาและเลนส์ตา
           แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสอดเลนส์ที่วัดตามค่าสายตาและโครงสร้างของลูกตาเข้าไปผ่านแผลที่กระจกตาขนาด3 มิลลิเมตร โดยเลนส์จะถูกม้วนใส่แท่งฉีดเลนส์แล้วจะไปกางออกในช่องหน้าม่านตา จากนั้นเลนส์จะถูกจัดวางไว้หลังม่านตา อยู่ระหว่าง ม่านตาและเลนส์ตาจริง เลนส์จะคงสภาพเดิมไปตลอด แต่สามารถเอาเลนส์ออกหรือเปลี่ยนเลนส์ได้เมื่อมีเหตุจำเป็นที่ไม่ต้องการใส่เลนส์เดิมแล้ว เมื่อเอาเลนส์ออกสภาพดวงตาจะกลับไปมีค่าสายตาแบบเดิม
 
ค่าสายตาที่สามารถแก้ได้
 
 
 
หมาะกับใคร
 
  • คนที่มีอายุ 21-45 ปี
  • ผู้รับการรักษาควรมีความลึกช่องด้านหน้าลูกตา (ACD) มากกว่าหรือเท่ากับ 2.85-2.9 มม.
  • คนที่มีกระจกตาบางหรือค่าสายตาสูงมากไม่สามารถทำการแก้ไขโดยการใช้เลเซอร์ได้ (LASIK, PRK and RELEX-SMILE)
 
ข้อห้ามในการใส่เลนส์เสริมICL
 
  • มีโรคของกระจก หรือมีความหนาแน่นของเซลล์กระจกตาชั้นในบาง
  • มีโรคต้อหิน หรือภาวะความดันลูกตาสูง
  • ผู้ที่เป็นต้อกระจก หรือเคยผ่านการผ่าตัดต้อกระจกแล้ว
  • มีช่องระบายน้ำในตาแคบ
  • ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
  • เป็นโรคอื่นๆของดวงตาที่ทำให้การมองเห็นไม่ดี เช่น โรคจอประสาทตาหลุดลอก
  • มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อการมองเห็นผิดปกติ เช่น เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
 
ขั้นตอนการเข้ารับบริการ
 
  1. เข้ารับการตรวจสภาพตาอย่างละเอียดเพื่อวิเคราะห์ดวงตาว่าสามารถทำผ่าตัดได้หรือไม่ และเพื่อคำนวณเลนส์ตาที่จะใส่
  2. ส่งคำนวณเลนส์ตากับทางบริษัท และสั่งเลนส์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ แต่ค่าสายตาบางประเภทอาจต้องสั่งตัดเลนส์ใหม่ซึ่งจะใช้เวลารอคอยเลนส์นานขึ้น ประมาณ 2-3 เดือน
  3. นัดหมายเข้ารับการผ่าตัด โดยจะทำการผ่าตัดตาทีละข้าง ห่างกัน 1 วัน
  4. แพทย์จะนัดติดตามการรักษาที่ 1 วัน 1 สัปดาห์ 1,3,6 เดือน และ ทุก 1 ปี หลังผ่าตัด ในบางรายอาจนัดตรวจติดตามถี่ขึ้นตามดุลพินิจของแพทย์
     
ผลที่ ได้รับหลังจากการรักษา

           หลังผ่าตัดผู้ที่เข้ารับการใส่เลนส์เสริมจะมีค่าสายตาลดลงใกล้เคียงปกติ ทำให้ระดับการมองเห็นเป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติ มีความคมชัดเหมือนใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์  ซึ่งระดับการมองเห็นจะค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ หลังทำทันทีและจะมีค่าสายตาคงที่หลังผ่าตัดประมาณ 3-6 เดือน ในช่วงแรกอาจต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวเพื่อให้ชินกับค่าสายตาใหม่ ซึ่งระยะเวลาในการปรับตัวจะเร็วช้าขึ้นกับสมองของแต่ละบุคคล แต่ส่วนใหญ่สามารถกลับไปใช้สายตาทำงานได้ประมาณ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด และคนไข้สามารถมองเห็นในที่มืดได้ดีขึ้นกว่าก่อนผ่าตัดเนื่องจากการใส่เลนส์เสริม ICLไม่ทำให้เกิดภาวะสูญเสีย Contrast sensitivity
 
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด
 
  • หยอดยาและทานยาตามแพทย์แนะนำ
  • สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ทำงานเบาๆได้ตามสมควร และสามารถกลับไปทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ประมาณ 2-3 วันหลังผ่าตัด ถ้าคนไข้ไม่มีอาการปวดตา ไม่สบายตา หรือยังตาพร่ามัว
  • ห้ามขยี้ตาตลอดไปเนื่องจากอาจทำให้เลนส์ตาเลื่อนตำแหน่งได้
  • ครอบตาด้วยฝาครอบตาก่อนนอนเป็นเวลา1เดือน
  • งดนอนตะแคงประมาณ2-3สัปดาห์
  • สวมแว่นตากันแดด กันลมและฝุ่น เวลาอยู่กลางแจ้งในช่วง2-3สัปดาห์แรก
  • สามารถออกกำลังกายเบาๆที่ประมาณ 2 สัปดาห์
  • มาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง
  • หากมีอาการผิดปกติใดๆ เช่น ปวดตา ตาแดง ตาพร่ามัว ให้มาพบแพทย์โดยเร็ว
  • ห้ามน้ำเข้าตาเป็นเวลา 3-4 สัปดาห์
  • ห้ามว่ายน้ำเป็นเวลา 1 เดือน
  • ห้ามยกของหนัก ยกเวท เป็นเวลา 1 เดือน
 
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้หลังผ่าตัด
 
  • หลังใส่เลนส์เสริมICLในช่วงแรก จะเห็นแสงรบกวนเป็นวง(halo) หรือแสงกระเจิง เมื่อมองดวงไฟ จะเห็นชัดมากช่วงกลางคืนมากกว่าตอนกลางวัน อาจทำให้การขับขี่ยานพาหนะในตอนกลางคืนมีความลำบาก เมื่อเวลาผ่านไป 3-6 เดือน แสงรบกวนนี้จะค่อยๆลดน้อยลงไปเรื่อยๆ คนโดยส่วนใหญ่จะเห็นแสงเป็นวงหลงเหลืออยู่บางส่วนและมักไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน แต่มีส่วนน้อยที่อาจเห็นแสงรบกวนนี้มากจนกระทบการขับรถในตอนกลางคืน
  • ความดันลูกตาสูงชั่วคราวในช่วงหลังผ่าตัด 24-48 ชั่วโมงแรก
  • ขนาดเลนส์มีขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับช่องหน้าม่านตา อัตราการเปลี่ยนขนาดเลนส์ใหม่ 1.5%*
        - ถ้าขนาดเลนส์ตาใหญ่จะทำให้ช่องม่านตาแคบ มุมตาแคบ เกิดความดันตาสูงขึ้น
        - ถ้าขนาดเลนส์ตาเล็กจะทำให้เลนส์ตาหมุนเลื่อนตำแหน่งได้ง่าย และมีโอกาสเกิดต้อกระจกได้
 
  • เลนส์ตาเลื่อนตำแหน่ง ต้องการทำการจัดตำแหน่งเลนส์ใหม่ อัตราการจัดเลนส์ใหม่  0.8% *
  • เลนส์แก้วตาขุ่นเป็นต้อกระจก ที่มีผลกับการมองเห็นมีอัตราการเกิด 2.7%*
  • โอกาสเกิดต้อกระจกจนต้องผ่าตัดต้อกระจกออก มีอัตราการเกิด 0.6%*
  • กระจกตาบวมชั่วคราวหลังผ่าตัดช่วง 1-2 สัปดาห์แรก อัตราการบวมของกระจกหลังผ่าตัดเกิน1สัปดาห์ เท่ากับ0*
  • จอประสาทตาหลุดลอก อัตราการเกิด 0.6%*
  • การอักเสบของช่องม่านตา มักเป็นชั่วคราวและหายได้ใน 1-2 สัปดาห์ โดยการใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์
  • ม่านตาขยายหลังผ่าตัดถาวร พบได้น้อยมากๆ
  • การเกิดภาวะต้อหิน เป็นจากการที่มีความดันลูกตาสูงอยู่เป็นระยะเวลานาน ไม่ได้รับการตรวจรักษา และตรวจติดตามอย่างเหมาะสม
  • เซลล์กระจกตาชั้นในลดลง มักเจอในเคสที่มีอุบัติเหตุต่อดวงตาหลังผ่าตัด หรือการผ่าตัดมีการไปกระทบโดยตรงต่อกระจกตาชั้นใน การผ่าตัดโดยแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญจะลดโอกาสเกิดได้มาก และยังไม่มีรายงานที่พบว่าการสูญเสียนี้มีผลกัทำให้กระจกตาบวมถาวร
  • โอกาสติดเชื้อหลังผ่าตัด อัตราการเกิด 1:8000 รายเท่านั้น
*อ้างอิงจากข้อมูลขององค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา

 
สอบถามเพิ่มเติม
เพิ่มเพื่อน
 
 

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พญ. ไรนา จินดาศักดิ์
ความชำนาญ : กระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา