ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย (ในผู้ชายวัยทอง)

20 เมษายน 2566


 
                มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ชีวิตเริ่มต้นเมื่อ 40” เพราะเป็นช่วงที่ทุกอย่างแทบจะลงตัวหมดแล้ว ทั้งในด้านเงินทอง หน้าที่การงาน และครอบครัว แต่ถึงกระนั้นผู้ชายหลายๆ ท่านกลับไม่รู้สึกว่าชีวิตได้เริ่มต้นแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับรู้สึกชีวิตกลับไม่น่ารื่นรมย์เสียด้วยซ้ำไป เพราะเมื่ออายุยิ่งมากขึ้น คุณก็ยิ่งรู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้นอย่างบอกไม่ถูก รู้สึกห่อเหี่ยวไม่กระตือรือร้น หงุดหงิดโดยไม่มีเหตุผล นอนไม่หลับ  นอกจากนี้สมรรถภาพทางเพศที่เคยมีอย่างเต็มเปี่ยมก็เริ่มถดถอยลงจนเกิดความไม่มั่นใจใจตนเอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกาย จิตใจ และความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงอย่างที่ไม่น่าจะเป็น ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถเกิดขึ้นจากภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย ดังนั้นคุณผู้ชายวัยทองทุกท่านจึงควรที่จะทำความรู้จักกับภาวะดังกล่าวเอาไว้ให้ดี

                ฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโทสเตอโรน เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากอัณฑะเป็นหลัก โดยฮอร์โมนดังกล่าวจะถูกผลิตขึ้นอย่างมากเป็นพิเศษในช่วงวัยรุ่น ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ร่างกายแสดงลักษณะของความเป็นชาย เช่น การเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์ การมีหนวกและเคราขึ้น การมีอารมณ์ทางเพศและเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยกระตุ้นการผลิตเม็ดเลือดแดง ช่วยกระตุ้นระบบหลอดเลือดและหัวใจ รวมทั้งยังช่วยทำให้อารมณ์และความทรงจำเป็นปกติอีกด้วย
                โดยปกติแล้วฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะมีการหลั่งออกมามากที่สุดในช่วงเช้าก่อน 11 โมง และจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ในช่วงบ่ายและค่ำ หลังจากนั้นจึงกลับมาสูงใหม่ในช่วงเช้ามืด ดังนั้นการเจาะตรวจฮอร์โมนหลังเวลา 11 โมงจึงใช้ในการแปลผลไม่ได้ เนื่องจากอาจตรวจพบว่าระดับฮอร์โมนต่ำกว่าความเป็นจริงได้
                ทั้งนี้พบว่าเมื่อผู้ชายมีอายุเพิ่มขึ้น การสร้างฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะลดลงเรื่อยๆ โดยผู้ชายที่มีอายุ 30-40 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีการลดลงของระดับฮอรฺโมนในเลือดประมาณปีละ 1% ซึ่ง "พบว่า 39% ของผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไปจะตรวจพบมีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย" โดยมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำกว่า 350 ng/dL

                ผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย สังเกตง่ายๆ มักมีอาการ ดังนี้

  • กระสับกระส่าย
  • ร้อนวูบวาบ

  • อารมณ์แปรปรวน

  • หงุดหงิดง่าย

  • ไม่กระฉับกระเฉง

  • เฉื่อยชา

  • มีภาวะนอนไม่หลับ

  • อาการซึมเศร้า

  • มักพบว่ามีความต้องการทางเพศลดลง ส่วนทางด้านร่างกายนั้นมักพบว่ามีอาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัวหรือแข็งตัวได้ไม่เต็มที่ และอาจพบว่าผมหรือขนตามร่างกายร่วง อ้วนลงพุงและกล้ามเนื้อลีบเล็กลงได้เช่นกัน

                นอกจากอาการผิดปกติดังที่กล่าวไปแล้ว ภาวะพร่องฮอร์โมนยังสัมพันธ์กับการเกิดโรคอื่นๆ ตามมาอีกด้วย เช่น ภาวะอ้วนลงพุง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
                ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายเป็นโรคที่พบได้มากขึ้นในชายสูงอายุ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ดังนั้นการตรวจคัดกรองภาวะดังกล่าวในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงจึงมีความจำเป็น เนื่องจากสามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

                ในปัจจุบันการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมน จะเริ่มจากการใช้แบบสอบถามเพื่อตรวจหาอาการที่เสี่ยงต่อภาวะดังกล่าว ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะถูกส่งต่อไปตรวจระดับฮอร์โมนเพศชาย และตรวจระดับสารเคมีอื่นๆ ในเลือดที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยผู้ป่วยที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำว่า 350 ng/dL จะถือว่ามีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย และจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนต่อไป

                นอกจากผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับภาวะพร่องฮอร์โมนแล้วก็ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ควรได้รับการตรวจระดับฮอร์โมนเพศชายแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติ เช่น

  • ผู้ป่วยที่อ้วนลงพุง (เส้นรอบเอวมากกว่า 36 นิ้ว)

  • ผู้ป่วยโรคเมตาโบลิคซินโดรม (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง)

  • ผู้ติดเชื้อ HIV หรือผู้ป่วยที่ใช้ยานอนหลับติดต่อกับเป็นเวลานาน เป็นต้น

               
               สำหรับการรักษาภาวะอ้วนลงพุงประกอบไปด้วย 2 วิธีการหลักได้แก่  

  1. การปรับการพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน โดยการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น ลดน้ำหนัก ควบคุมแคลอรี่อาหาร และงดการสูบบุหรี่ ซึ่งพบว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรคเมตาโบลิคต่างๆ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาด้วยฮอร์โมนเสริมด้วย

  2. การใช้ฮอร์โมนเพศชายเสริม ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ ต้องเป็นยาที่มีความปลอดภัย ออกฤทธิ์สั้น บริหารยาเองได้ง่าย และมีการติดตามระดับฮอร์โมนอย่างใกล้ชิด โดยจุดมุ่งหมายของการให้ฮอร์โมนเสริมก็คือทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนขึ้นมาอยู่ในระดับปกติ (450-600 ng/dL) และช่วยบรรเทาอาการผิดปกติต่างๆที่เกิดจากการพร่องฮอร์โมน

"จะเห็นได้ว่าการคัดกรองและให้การรักษาภาวะพร่องฮอร์โมนในชายวัยทองอย่างเหมาะสมนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างเสริมสุขภาพ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ดังนั้นผู้ชายทุกคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จึงควรที่จะทำความเข้าใจกับภาวะดังกล่าว และคอยสังเกตอาการของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้เข้ารับการตรวจคัดกรองได้อย่างทันท่วงที"
 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : M Club
 

สอบถามเพิ่มเติม  / นัดหมายพบแพทย์
(ดูแลโดยทีมแพทย์ และพยาบาลผู้ชาย)

เพิ่มเพื่อน