การดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการเกิดภูมิแพ้ตั้งแต่ในครรภ์

20 เมษายน 2566

แพทย์หญิง ภัทรา ตันติเจริญวิวัฒน์

 

การดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการเกิดภูมิแพ้ตั้งแต่ในครรภ์

     การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ  และมลภาวะจะเพิ่มความเสี่ยง  ในการถูกกระตุ้นให้เป็นโรคภูมิแพ้  และโรคหืด ในกลุ่มมารดาตั้งครรภ์  และเด็กที่มีความเสี่ยง  จะเป็นภูมิแพ้ จึงควรปฏิบัติ  ดังนี้

 

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่ทั้งในขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด

        การที่ทารกสัมผัสบุหรี่  ตั้งแต่ในครรภ์ส่งผลกระทบ  ต่อการพัฒนาของปอด  และการสัมผัสควันบุหรี่  ทั้งขณะตั้งครรภ์ และหลังคลอดไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่โดยตรง จากมารดา หรือการสัมผัสควันบุหรี่จากคนอื่น ๆ ในบ้าน เพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้หอบ หายใจวี้ด และเกิดโรคหืดในเด็ก ได้ถึง 20-80%

คำแนะนำ

  • หญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็กควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีควันบุหรี่ 
  1. มลภาวะ Pollution

       มลภาวะนอกบ้าน (Outdoor Pollution)  การอยู่ในสภาพแวดล้อม  ที่มลภาวะนอกบ้านสูง เช่น บ้านอยู่ติดถนน เพิ่มความเสี่ยง  ที่ทำให้เกิดโรคหืด และหญิงตั้งครรภ์สัมผัสมลภาวะเหล่านี้  เช่น NO2, SO2, PM10  จะส่งผลให้บุตร  เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหืด โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ในเด็ก

คำแนะนำ

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน ปิดประตูหน้าต่าง หากคุณภาพอากาศภายนอกบ้านเกินเกณฑ์มาตรฐาน

  • ลดการก่อมลภาวะในบ้าน หรืออาจใช้เครื่องฟอกอากาศหากในบ้านมีความเสี่ยง

  1. สารก่อภูมิแพ้-ไรฝุ่น

       ไรฝุ่น  เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ ทำให้มีอาการภูมิแพ้ทางจมูก และหอบหืด จากงานวิจัยศึกษาติดตาม ไปข้างหน้าตั้งแต่แรกเกิดที่พ่อแม่มีประวัติเป็นภูมิแพ้ (birth cohort)  พบว่าในเด็กทารกอายุ 2-3 เดือน หากปริมาณไรฝุ่นในที่พักมากกว่า 10 ug/g  มีอัตราการเกิดหายใจหอบวี้ด 5 เท่า  และเกิดโรคหืด 3 เท่า  และหากสัมผัสปริมาณไรฝุ่น มากกว่า 2 ug/g เป็นเวลานาน พบว่าเด็กเหล่านี้ทดสอบภูมิแพ้ให้ผลแพ้ไรฝุ่น

คำแนะนำ

  • ซักผ้าปู ปลอกหมอน ผ้าห่มด้วยน้ำอุณหภูมิ 60 องศา นาน 30 นาที สัปดาห์ละครั้ง

  • ใช้ผ้าคลุมที่นอน ปลอกหมอนกันไรฝุ่น

  • จัดห้องนอนให้โล่ง ไม่ควรมีพรม, ตุ๊กตา

  • ดูดฝุ่น สม่ำเสมอ

  • สามารถตรวจวัดปริมาณไรฝุ่นได้เพื่อให้ทราบระดับไรฝุ่น

 

  1. สัตว์เลี้ยง

       ในปัจจุบัน ข้อมูลของการเลี้ยงสัตว์ ส่งผลอย่างไรต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ และโรคหืดหรือไม่นั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกัน บางงานวิจัยพบว่า การมีสัตว์เลี้ยงลดอัตราการเกิดโรคหืด และอัตราการเกิดภูมิแพ้ ในขณะที่บางรายงานพบว่า การหลีกเลี่ยงสัตว์เลี้ยงนั้น ลดการเกิดโรคภูมิแพ้และหอบหืด มีงานวิจัยในปี2002 พบว่าความสัมพันธ์ของอัตราการแพ้ขนสัตว์ (แมว) กับการเลี้ยงสัตว์นั้นมีความสัมพันธ์แบบระฆังคว่ำ  คือ อัตราแพ้จะน้อย ในกล่มที่ไม่เลี้ยงและในกลุ่มที่เลี้ยงปริมาณมาก  มีงานวิจัยติดตามทารกตั้งแต่แรกเกิด 835  คน ใน Detroit, USA ในครอบครัวที่เลี้ยงสุนัขหรือแมว ≥ 2 ตัว  ลดอัดอัตราการเกิดภูมิแพ้เมื่อเทียบกับครอบครัวที่ไม่เลี้ยง  ทั้งนี้มาจากสมมติฐาน Hygiene hypothesis  เป็นเพราะการสัมผัสจุลินทรีย์ที่ไม่ก่อโรคจากสัตว์  การสัมผัส endotoxin  จากสัตว์เลี้ยงไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ให้เป็นภูมิคุ้มกันปกติที่ไม่เกิดภูมิแพ้

คำแนะนำ

  • หากได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้สัตว์เลี้ยงแล้ว ควรหลีกเลี่ยง

  • ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการเลี้ยงสัตว์ช่วยป้องกันการเกิดภูมิแพ้หรือไม่

  • หากที่บ้านเลี้ยงสัตว์ไม่มีความจำเป็นต้องเลิกเลี้ยงเพื่อหวังผลในการป้องกันภูมิแพ้

  • หากยังไม่ได้เลี้ยงสัตว์ ไม่มีความจำเป็นต้องนำสัตว์มาเลี้ยงเพื่อหวังผลในการป้องกันภูมิแพ้

 
 Reference

  1. Global Strategy for Asthma Management and Prevention (2019), 153-157

  2. Burke et al. Prenatal and Passive smoke exposure and Incidence of Asthma and Wheeze: Systematic Review and Meta-analysis. Pediarics. 2012;129(4)735-744

  3. Celedon et al. Exposure to dust mite allergen and endotoxin in early life and asthma and atopy in childhood. J Allergy Clin Immunology. 2007; 120(1): 144-149

  4. Platts-Mills TA et al. Relevance of early or current pet ownership to the prevalence of allergic disease. Clin Exp Allergy. 2002; 32(8):1259

  5. Dennis RO et al. Exposure to Dogs and Cats in the First Year of Life and Risk of Allergic Sensitization at 6-7 years of age. JAMA.2002;288(8)

  6. Position statement: Allergy prevention in children, ASCIA

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : สถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช รพ.สมิติเวชธนบุรี
โทร. 02-408-0111

 

สอบถามเพิ่มเติม  / นัดหมายพบแพทย์

เพิ่มเพื่อน

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พญ. ภัทรา ตันติเจริญวิวัฒน์
ความชำนาญ : โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน