มะเร็งทางเดินอาหาร สถิติการตายอันดับต้นๆ ของประเทศไทย

31 มกราคม 2566


สถิติการตายจากมะเร็ง 10 อันดับของประเทศไทยนั้น 4 อันดับจาก 10 มาจากทางเดินอาหาร ได้แก่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ , มะเร็งกระเพาะอาหาร , มะเร็งหลอดอาหาร และ มะเร็งตับ/ท่อน้ำดี ซึ่งการแพทย์แผนปัจจุบันมีวิธีลดการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

ใครควรจะได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

             ควรทำในทุกคนที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ไม่ว่าจะมีอาการขับถ่ายผิดปกติหรือไม่ก็ตาม และในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง หรือ เคยสูบบุหรี่ หรือ มีญาติเคยส่องกล้องพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ก็อาจคัดกรองเร็วขึ้น 

            ในฐานะหมอเฉพาะทาง เราไม่ชอบตอบคำถามว่า อาการอย่างไรจึงสงสัยมะเร็งทางเดินอาหาร เพราะมะเร็งระยะที่ทำให้เกิดอาการแล้วนั้น มักรักษายากกว่า มะเร็งที่ตรวจพบจากการคัดกรอง … เลยอยากพาไปรู้จักให้รอบด้านสำหรับ เรื่องที่หมอคิดว่าทุกคนควรรู้

มะเร็งลำไส้ใหญ่ป้องกันได้จริงๆนะ ?

            เนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนมากเกิดจากติ่งเนื้อในลำไส้ (ที่เรียกว่า อะดีโนม่า) ที่พัฒนาจนกลายเป็นมะเร็งในระยะเวลาหลายปีถึงหลายสิบปี ดังนั้นในการส่องกล้องที่ได้พบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ และได้ตัดติ่งเนื้อที่เป็นสาเหตุของมะเร็งทิ้งไป ก็จะเป็นการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้  ทั้งนี้มีข้อมูลจากประเทศพัฒนาแล้ว ที่ยืนยันว่าการได้ส่องกล้องลำไส้แล้วตัดอะดีโนม่าออก ทำให้อายุยืนขึ้น หรือเป็นมะเร็งลำไส้ลดลงได้

เคยได้ยินแต่เรื่องสัญญาณเตือนของมะเร็ง ? รอมีอาการค่อยตรวจได้ไหม 

            หากเราตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกๆซึ่งมะเร็งยังไม่ลุกลามออกนอกลำไส้ ส่วนมากแล้วจะรักษาให้หายขาดได้ โดยการตัดชิ้นเนื้อส่วนที่เป็นมะเร็งออก แต่โดยทั่วไปมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกจะไม่มีอาการแสดง ทำให้ผู้ป่วยส่วนมากไม่มาพบแพทย์ทำให้เสียโอกาสไป

           ถ้าถามว่า ทำไมจึงมักมีบทความเกี่ยวกับ อาการที่แนะนำให้สังเกต ทั้งๆที่  ผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีอาการที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับขนาดและบริเวณที่เกิดเนื้องอก ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้อง ขับถ่ายผิดปกติ ถ่ายมีมูกเลือดปนซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ส่วนมากจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะที่อาจจะรักษาไม่หายขาด เป็นสาเหตุการเสียชีวิต … ก็เพราะ หลายคนยังเข้าใจผิด หรือเพราะอยากเพิ่มความคุ้มค่าในการตรวจคัดกรอง เช่น ประเทศกำลังพัฒนา มีงบประมาณไม่เพียงพอจะตรวจคัดกรองมะเร็งให้ประชาชนทุกคนที่อายุเกิน 50 ปี จึงเลือกให้ตรวจใน กลุ่มเสี่ยงสูง ที่มีอาการ หรือ มีประวัติมะเร็งในครอบครัว 

ถ้าไม่อยากส่องกล้อง แต่ไม่อยากตายจากมะเร็งลำไส้ ควรทำอย่างไร ?  

           คำแนะนำของสมาคมมะเร็งวิทยาของ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย ยุโรป และอเมริกา ส่วนใหญ่แนะนำให้คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี ซึ่งการตรวจนั้นวิธีที่ละเอียดที่สุดคือการส่องกล้อง แต่ท่านสามารถเลือกวิธีใดก็ได้ในการตรวจมาตรฐาน แต่ขอให้ทราบไว้ว่าการเจาะเลือดอย่างเดียวโดยไม่ตรวจวิธีอื่นร่วมด้วยนั้นไม่เพียงพอ … เพียงเท่านี้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ก็จะไม่ใกล้ตัวคุณอีกต่อไป


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ รพ.สมิติเวช ธนบุรี
โทร. 02-408-0101

สอบถามเพิ่มเติม / ซื้อแพคเกจ

เพิ่มเพื่อน