การตรวจคัดกรอง DOWN SYNDROME โดยใช้ NIPT

09 กันยายน 2565

แพทย์หญิง อัจจิมา สูงสถิตานนท์

 
การตรวจ NIPT (non-invasive prenatal testing) คือ การตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมของทารก ในครรภ์จากเลือดของมารดา โดยสามารถตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์(trisomy21) หรือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของจำนวนโครโมโซมอื่นๆ ซึ่งการตรวจเลือดของมารดาจะไม่ส่งผลอันตรายกับทารกในครรภ์ และสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 10 สัปดาห์ขึ้นไปและใช้เลือดมารดาเพียง 10 มิลลิลิตร
 

ทำไมจึงสามารถจับความผิดปกติได้

เนื่องจากเลือดของมารดาจะมีสารพันธุกรรมของทารกปนเปื้อนอยู่ การตรวจ NIPT จะทำการวิเคราะห์ปริมาณสารพันธุกรรมของทารกที่อยู่ในเลือดมารดาแต่ละคน เพื่อตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซม 21 ,18 หรือ 13 โดยทั่วไปสามารถทราบผลการตรวจใน 7-14 วัน

 ข้อดีของการตรวจ NIPT

1. ปลอดภัย เนื่องจากเป็นการตรวจจากเลือดของมารดา ดังนั้นจะไม่เสี่ยงต่อการแท้งเหมือนหัตถการเจาะน้ำคร่ำหรือ เจาะสายสะดือทารก
2. ความแม่นยำสูง การตรวจ NIPT เป็นการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ที่แม่นยำที่สุดในปัจจุบัน โดยให้ผลการตรวจที่แม่นยำสูงถึง 99% และมีผลบวกลวงต่ำ ช่วยลดอัตราการเจาะน้ำคร่ำที่ไม่จำเป็น
3. ง่ายและสะดวก เนื่องจากใช้เลือดมารดาเพียงแค่ 10 cc.

ตรวจโครโมโซม NIPT ช่วยคัดกรองความผิดปกติใด

  • กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) (โครโมโซมคู่ที่ 21) เป็นภาวะผิดปกติทางโครโมโซม ที่พบได้บ่อยที่สุด ทารกจะมีศีรษะค่อนข้างเล็กและแบน หางตาเฉียงขึ้น ดั้งจมูกแบน หูเกาะต่ำกว่าปกติ ปากเล็ก ลิ้นมักยื่นออกมา อาจมีผนังกั้นห้องหัวใจรั่ว พัฒนาการช้า มีไอคิวค่อนข้างต่ำ
  • กลุ่มอาการเอ็ดเวิร์ด (Edward Syndrome) (โครโมโซมคู่ที่ 18) เป็นภาวะผิดปกติทางโครโมโซม ทารกจะมีศีรษะและขากรรไกรเล็ก ใบหูอยู่ต่ำกว่าปกติ อาจมีปากแหว่ง เพดานโหว่ นิ้วมือและเท้าบิดงอผิดรูป มีหัวใจและไตพิการ ปอดและทางเดินอาหารผิดปกติ ไอคิวต่ำ เด็กมักเสียชีวิตภายใน 1 ปี
  • และกลุ่มอาการพาทัว (Patau Syndrome) (โครโมโซมคู่ที่ 13) ภาวะทารกมีปากแหว่ง เพดานโหว่ ตาเล็ก ใบหูต่ำ นิ้วมือนิ้วเท้าเกิน หูหนวก สมองพิการ มักจะเสียชีวิตภายในไม่กี่อาทิตย์หลังจากคลอดออกมา แม้จะพบได้น้อยกว่ากลุ่มดาวน์ซินโดรม แต่มีความรุนแรงและโอกาสเสียชีวิตของทารกสูงกว่า

ประเภทของผลการตรวจ

ผลตรวจจะมี 3 แบบ คือ

  • ความเสี่ยงต่ำ (Low risk) หมายถึง โครโมโซมของทารกในครรภ์มีความเสี่ยงน้อยมากที่จะเกิดความผิดปกติ โอกาสที่ทารกจะมีโครโมโซมผิดปกติน้อยกว่าความเสี่ยงของการแท้งจากการเจาะน้ำคร่ำ
  • ความเสี่ยงสูง (High risk) หมายถึง โครโมโซมของทารกในครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่จะผิดปกติ ซึ่งควรตรวจวิธีอื่นเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลด้วย เช่น เจาะตรวจน้ำคร่ำ หรือตรวจชิ้นเนื้อรก เป็นต้น
  • ระบุผลลัพธ์ไม่ได้ (No result) หมายถึง ดีเอ็นเอของทารกในเลือดของแม่มีไม่เพียงพอสำหรับการแปลผล อาจต้องเจาะเลือดเพิ่มเติม หรือแนะนำให้ทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม แต่การตรวจที่ระบุผลไม่ได้พบได้น้อยมาก

การตรวจโครโมโซม NIPT มีโอกาสแปลผลผิดพลาดไหม

มีโอกาสผิดพลาดได้ เพราะการตรวจ NIPT เป็นเพียงการตรวจคัดกรองความผิดปติที่มีความแม่นยำสูง 99 % แต่ก็ไม่ใช่การวินิจฉัย มีเพียงการเจาะน้ำคร่ำวิธีเดียวที่เป็นการวินิจฉัยได้ 100 % ว่าทารกมีความผิดปกติของโครโมโซมหรือไม่
 

**การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมทารกในครรภ์ แบบเจาะเลือดมารดา
เป็นเพียงการตรวจคัดกรองเท่านั้น ไม่ใช่การตรวจเพื่อวินิจฉัย
ควรปรึกษาแพทย์ทั้งก่อนและหลังตรวจ แม้ผลจะออกมาความเสี่ยงต่ำ
แต่ยังคงต้องอัลตราซาวด์เพื่อดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ที่อายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

 
เพิ่มเพื่อน
 

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พญ. อัจจิมา สูงสถิตานนท์
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา