อาการหลงเหลือหลังติดโควิด-19

13 พฤษภาคม 2565


 

ภาวะ “ลองโควิด” ( Long COVID) หรือ Post COVID syndrome เป็นภาวะหรืออาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากได้รับเชื้อนาน 4 สัปดาห์ไปจนถึง 12 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งอาการที่พบมีหลากหลายและแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่มักพบในผู้ป่วยโควิด-19 ที่เชื้อลงปอดและมีโรคเรื้อรังร่วมด้วย ปัจจุบันภาวะ“ลองโควิด” ( Long COVID) หรือ Post COVID syndrome ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด อาจเกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือเกิดจากผลข้างเคียงในด้านของการรักษาที่ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานาน เป็นต้น โดยอัตราการเกิดลองโควิด จะอยู่ที่ประมาณ 40-80% (จากรายงานทั่วโลก) ซึ่งอาการที่พบมีหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้ที่หายจากโควิด-19  ทั้งระยะสั้นและระยะยาว การหมั่นสังเกตความผิดปกติของตนเองหลังหายจากโควิด-19 เป็นเรื่องสำคัญ แพทย์จึงแนะนำให้สังเกตตัวเองอย่างละเอียด ประเมินร่างกายตนเองอยู่เสมอ และฟื้นฟูร่างกายอย่างถูกต้อง ดังนั้นหากมีอาการต้องรีบพบแพทย์โดยเร็ว อย่าปล่อยทิ้งไว้จนรุนแรงและเรื้อรัง ย่อมช่วยให้รักษาได้ทันท่วงที นอกจากนี้การตรวจร่างกายเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยให้รู้ทันความผิดปกติที่เกิดขึ้นและดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม

จากการสำรวจผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 ของกรมการแพทย์ เมื่อวันที่ 11เมษายน 2565 ระบุอาการที่มักพบได้บ่อย ดังนี้

  1. ระบบทางเดินหายใจ พบได้ 44.38% ได้แก่ หอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง
  2. ระบบทางจิตใจ พบได้ 32.1% ได้แก่ นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า
  3. ระบบประสาท พบได้ 27.33% ได้แก่ อ่อนแรงเฉพาะที่เฉียบพลัน ปวดศีรษะ มึนศีรษะ หลงลืม กล้ามเนื้อลีบ
  4. ระบบทั่วไป พบได้ 23.41% ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ
  5. ระบบหัวใจและหลอดเลือด พบได้ 22.86% ได้แก่ เจ็บหน้าอก ใจสั่น
  6. ระบบผิวหนัง พบได้ 22.8% ได้แก่ ผมร่วง ผื่นแพ้

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงภาวะ “ลองโควิด” ( Long COVID)

  • กลุ่มผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอื่นๆร่วมด้วย เช่น โรคหอบหืด, โรคตับ, ความดันโลหิตสูง, ไตวายเรื้อรัง, โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ และมะเร็ง เป็นต้น
  • ผู้ที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน ระดับดัชนีมวลกาย (Body mass index) หรือ BMI ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป
  • ผู้ที่มีอาการรุนแรงขณะติดเชื้อ หรือมีอาการปอดอักเสบจากการติดเชื้อโควิด
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ
  • ผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก หรือผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ก็สามารถมีโอกาสเกิดอาการ Long COVID ได้

สัญญาณเตือนภาวะ “ลองโควิด” ( Long COVID)

  • ไข้กลับมาใหม่ทั้งที่เคยหายไปแล้ว
  • หายใจไม่ทัน หายใจไม่สะดวก หายใจเจ็บหน้าอก
  • เหนื่อยง่ายมากขึ้น ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้นานๆ
  • เล่นกีฬาที่ต้องใช้แรงนานๆ ไม่ได้ ที่เคยทำอยู่เดิมไม่ได้ ทำกิจกรรมเดิมไม่ได้
  • มีอาการไอเรื้อรัง
  • ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ กล้ามเนื้อไม่มีแรง
  • การรับรสและได้กลิ่นผิดปกติ
  • ปวดศีรษะ มึนศีรษะ
  • นอนไม่หลับ
  • ความจำไม่ดี ไม่มีสมาธิ
  • มีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า เครียด
  • ใจสั่น แน่นหน้าอก
  • ท้องเสีย ท้องอืด
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • ผมร่วง
  • ผื่นแพ้

การปฏิบัติตัวเมื่อหายจากโควิด-19

  • รับประทานให้ครบ 5หมู่ และปรุงสุกเสมอ
  • นอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดูแลที่พักอาศัยให้ให้สะอาดเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ
  • ฝึกการหายใจ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพปอด
  • ควรได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และกระทรวงสาธารณสุข)
  • ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพ เพื่อตรวจดูความแข็งแรงของร่างกาย พบแพทย์เพื่อประเมินร่างกาย และวางแผนฟื้นฟูที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม อาการผิดปกติดังกล่าวส่วนใหญ่หายได้เอง หากผู้ป่วยมีอาการต่อเนื่องนานกว่า 2 เดือน ควรพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เข้ารับการตรวจสุขภาพ เพื่อตรวจดูความแข็งแรงของร่างกาย พบแพทย์เพื่อประเมินร่างกาย และวางแผนฟื้นฟูที่ถูกต้อง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : แผนกอายุรกรรม / ศูนย์สุขภาพดี
โทร. 
02-408-0101 , 02-408-0123

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เพิ่มเพื่อน