บอกลาอาการปวดข้อเข่าและสะโพก ‍ พร้อมกลับมาเดินได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง

01 มกราคม 2566

นายแพทย์ สุขสันต์ ตั้งสถาพร



ทุกคนคงมีประสบการณ์การเจ็บที่บริเวณข้อเข่ามาก่อน คงสงสัยทุกครั้งว่าเจ็บมาจากส่วนไหนของข้อเข่ากันแน่ เป็นจากในข้อหรือนอกข้อ เป็นจากเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ หรือกระดูกกันแน่ ?

        ข้อเข่าเป็นข้อที่สร้างอาการเจ็บได้บ่อยมากเพราะข้อเข่าเป็นหนึ่งในข้อหลักที่ใช้งานหนักที่สุดข้อหนึ่ง ทั้งรับน้ำหนักทุกครั้งที่ยืนเดิน วิ่ง และยังต้องรับแรงบิดรุนแรงขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อย่อยอง ขึ้นลงบันได และรวมถึงท่านั่งขัดสมาธิ พับเพียบ รวมทั้งกิจกรรมเกือบทุกกิจกรรม และการออกกำลังกายเกือบทุกประเภท จึงไม่น่าแปลกใจที่จะพบผู้ป่วยเจ็บข้อบ่อยที่สุดที่ข้อเข่านี่เอง เป็นได้ตั้งแต่อายุน้อยๆไปจนถึงในผู้สูงอายุ ถ้าหากพบว่าการเจ็บที่เข่านั้นเป็นอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่าปกติ เช่นนานหลายเดือนติดต่อกัน ประกอบกับท่านมีอายุเกินกว่า 40 ปี ขึ้นไป ต้องลองดูแล้วว่าการเจ็บเข่าครั้งนี้เป็นจากโรคข้อเข่าเสื่อมแล้วหรือยัง
        การเข้าใจเรื่องข้อเข่าเสื่อมนอกจากจะทำให้คนที่เป็นโรคดูแลรักษาตัวเองได้อย่างถูกต้องแล้ว สำหรับคนที่ยังไม่ได้เป็นก็มีประโยชน์ในการป้องกันตัวเอง เริ่มดูแลตัวเองไม่ให้เราต้องเป็นโรคนี้ในอนาคต ลองมาทำความรู้จักโรคนี้กันครับ  

เราจะนึกถึงโรคข้อเสื่อมเมื่อมีอาการดังนี้

  • เจ็บปวดบริเวณข้อเข่า ต่อเนื่องยาวนานเกินกว่า  3-6 เดือน
  • ตำแหน่งเจ็บตรงกลางข้อไม่ว่าจะเป็นด้านหน้า หลัง ข้าง
  • กิจกรรมที่มักจะมีอาการ คือเวลาลงน้ำหนัก งอสุด เหยียดสุด ถ้าพักเฉยๆมักจะเบาลง
  • แนวเข่าจะเปลี่ยนไปจากตอนเป็นวัยรุ่น ไม่ว่าจะโก่งเข้าในหรือโก่งออกนอก
  • องศาการงอเหยียดจะทำได้ไม่สุด มีการติดขัด

         ข้อเข่าเสื่อมมักจะมีอาการดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งนำมาก่อน และทยอยมีอาการจนครบเมื่อปล่อยทิ้งไว้นานๆ ดังนั้นโรคข้อเข่าเสื่อมจึงมักจะเป็นในคนที่มีอายุค่อนข้างมาก ใช้งานข้อเข่ามายาวนาน สะสมความเสื่อมจนมากพอที่จะแสดงอาการ อายุก็มักจะเกินกว่า  40  ปีขึ้นไป แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่มีความเสี่องที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ตั้งแต่อายุน้อยกว่า  40 ปี 

ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควร

  • ผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุที่บริเวณข้อเข่าในอดีต
  • น้ำหนักตัวมาก ร่วมกับกล้ามเนื้อรอบเข่าไม่แข็งแรง
  • ผู้ที่มีโรคข้ออักเสบที่จะทำลายกระดูกอ่อนในข้อ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้อติดเชื้อ หรือโรคเก๊าท์
  • การมีข้อผิดรูปตั้งแต่กำเนิดเช่น เข่าโก่งงอ โปลิโอ
  • เล่นกีฬาบางประเภทที่ใช้ข้ออย่างรุนแรงเช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล แบตมินตัน วิ่ง
  • ทำงานบางประเภทที่ใช้ข้อเข่าอย่างหนักมาตลอด เช่น งานสวน ไร่ แบกหามของหนัก
  • โรคทางพันธุกรรมบางประเภทที่ทำให้กระดูกอ่อนเข่าไม่แข็งแรง
  • ใช้ยาอันตรายต่อกระดูกอ่อนต่อเนื่องยาวนานเช่นยา steroid

           อาการที่เกิดจากข้อเข่าเสื่อมทำให้การใช้ชีวิตประจำวันทำได้ยากลำบาก เกือบทุกกิจกรรมที่เคยทำได้ดี ก็จะต้องลดลง ทุกครั้งที่ใช้เข่าจะเจ็บ เสียว ไม่มั่นใจ กิจกรรมการเดินทาง ท่องเที่ยวหรือออกกำลังกายก็จะทำได้ยากขึ้น เมื่อทานยาหรือทำกายภาพบำบัดก็จะมีอาการดีขึ้นเป็นครั้งคราว แต่อาการก็จะกลับมาอีกเรื่อยๆ เมื่อ x- ray และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้อเข่าเสื่อม บางครั้งพบว่าข้อเข่าเสื่อมมากจนจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เรามาดูว่าข้อเข่าเทียมคืออะไร

ข้อเข่าเทียมมีดี อย่างไร?
        ระยะทางพิสูนจ์ม้า กาลเวลาพิสูจน์ข้อเทียม คงเป็นสุภาสิตที่แปลกหูแต่ใช้ได้กับข้อเข่าเทียม เนื่องจากข้อเข่าเทียมแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง จนได้รูปแบบที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก และนำมาใช้กับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม ระยะสุดท้ายมานานกว่า 40 ปีในต่างประเทศ และนานกว่า30 ปีในประเทศไทย ระยะเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยให้ผู้ป่วยที่ทนทรมานจากอาการเจ็บจากข้อเข่าเสื่อม ได้กลับมาใช้ข้อเข่ายืน เดิน นั่ง งอเหยียดเข่าได้คล่อง สามารถหยุดยาแก้ปวดที่ทานมาอย่างยาวนานได้ จนสุดท้ายได้กลับไปใช้ชีวิตที่มีความสุขกับกิจกรรมต่างๆได้ต่อไป

        กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว เป็นอีกสุภาษิตที่นำมาใช้กับข้อเทียมได้ การพัฒนาข้อเทียมมีประวัติอันยาวนาน พัฒนาขึ้นโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายยุคหลายสมัย ทั่วโลก ได้รับการปรับปรุงเรื่อยมาจนกระทั่งได้ข้อเทียมรูปร่างลักษณะแบบในปัจจุบัน และรูปร่างลักษณะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากมายในช่วง20 ปีหลัง แค่เพียงมีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ปรับปรุงวัสดุที่ใช้ให้เหมาะสมขึ้น ปรับปรุงขนาดที่ใช้ให้หลากหลายกับผู้ป่วยแต่ละคนมากขึ้น พัฒนาส่วนผิวสัมผัสให้มีความแข็งแรงทนทานต่อการสึกกร่อนได้ยาวนานขึ้น ทำให้ข้อเทียมในปัจจุบันได้รับการยอมรับทั้งจากแพทย์เองและผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด

       การพัฒนาข้อเทียมมุ่งเน้นให้ตอบสนองการใช้งานของข้อเข่าได้ในทุกสถานะการ เช่น ออกแบบให้องศาการงอเข่าทำได้มากขึ้นสำหรับผู้ป่วยที่มีความต้องการในการงอสูง มีความแข็งแรงทนต่อแรงเสียดสีมากขึ้นสำหรับผู้ป่วยที่ใช้งานข้ออย่างหนัก ออกแบบให้มีหลายรุ่นที่มีจุดเด่นเข้าได้กับความต้องการของผู้ป่วยแต่ละคน นอกจากนั้นยังมีการออกแบบครื่องมือที่ช่วยให้การผ่าตัดทุกขั้นตอนกินเวลาสั้นลง ลดขนาดแผลและความชอกช้ำของเนื้อเยื่อให้น้อยลง มีการนำเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาเสริมในขั้นตอนการผ่าตัด การวัดมุมขนาดต่างๆ การตัดแต่งผิวกระดูกก่อนที่จะใส่ข้อเทียม มีความแม่นยำ เพื่อให้ข้อเทียมนั้นอยู่ในตำแหน่งที่จะปรับให้ข้อเข่าที่เสื่อมผิดรูปมานานกลับมาเป็นข้อเข่าที่มีแนวที่ถูกต้อง เรียบลื่น และ งอเหยียดได้ดี

        ข้อเข่าเทียมเรียกได้ว่าเป็นศาสตร์ แต่อย่าลืมว่าการผ่าตัดนั้นต้องการศิลป์ด้วย แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะต้องมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ที่มากพอในการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม เพราะลำพังข้อที่ดีหากอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมคงจะยากที่จะทำให้ข้อเทียมทำงานเข้ากับผู้ป่วยแต่ละคนได้ ดังนั้นเทคนิคในการผ่าตัด การวัด การตัดแต่งกระดูก ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในเรื่องการผ่าตัดข้อเทียม มีความจำเป็นอย่างมากในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม เพื่อให้ข้อเทียมที่ออกแบบมาเป็นอย่างดีแล้วนั้นทำหน้าที่เป็นข้อใหม่ให้กับผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างเหมาะสมและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน

         แม้จะมีข้อเทียมที่ดีและแพทย์ผู้ผ่าตัดที่มีประสบการณ์แล้วก็อาจจะยังไม่พอสำหรับการดูแลผู้ป่วยที่จะผ่าตัดข้อเข่าเทียมยังคงมีบุคคลากรอีกหลายสาขาที่จะร่วมดูแลผู้ป่วยในทุกขั้นตอนตั้งแต่การพูดคุย ทำความเข้าใจกับผู้ป่วยในช่วงก่อนผ่าตัด ทีมแพทย์พยาบาลที่จะดูแลในช่วงระหว่างการผ่าตัด และการดูแลหลังผ่าตัด รวมถึงในช่วงของการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูข้อหลังผ่าตัดข้อเทียมให้กลับมาแข็งแรง รับน้ำหนักและงอเหยียดได้เต็มศักยภาพของแต่ละคน  ดังนั้นผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดข้อเข่าเทียมคงจะพอบอกได้ว่า ข้อเข่าเทียมนั้นมีดียังไง ทำไมถึงมีผู้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมากขึ้นทุกปีต่อเนื่องกันมาแล้วกว่า 20 ปี 




ศูนย์ข้อเทียมสมิติเวช ธนบุรี ดูแลอย่างไรบ้าง ?
         ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทุกคนจะมีความกังวลเรื่อง คุณภาพการดูแล ความปลอดภัย แพทย์ผู้ทำการผ่าตัด ผลของการผ่าตัด การควบคุมความเจ็บ การทำกายภาพบำบัด ข้อกังวลต่างๆเหล่านี้ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในศูนย์ของเรามาตลอด 8 ปี
         เราใช้หลักการดูแลรักษาผู้ป่วยทุกคนเสมือนญาติมิตร ทุกขั้นตอนตั้งแต่การพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติ การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด การผ่าตัดด้วยเทคนิคแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว การทำกายภาพบำบัดและลงเดินโดยแพทย์ผู้ผ่าตัด และการติดตามอาการต่อเนื่องอย่างยาวนานหลายปีหลังจากผ่าตัดแล้วโดยแพทย์ผู้ผ่าตัดทุกครั้ง เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนที่เข้ารับการผ่าตัดที่เราได้มีความมั่นใจว่าจะกลับไปยืน เดิน และทำกิจกรรมต่างๆ กับครอบครัวได้อย่างมีความสุขดังสโลแกนล์ที่ว่า "ให้ความสุข ยังไปได้ต่อ"

 

 

เสียงจากผู้รับบริการ





สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์กระดูกและข้อ
โทร : 02-408-0103

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม / นัดหมายแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา
 

เพิ่มเพื่อน

บทความโดย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
นพ. สุขสันต์ ตั้งสถาพร
ความชำนาญ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาออร์โธปิดิกส์ / ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม